นักอาชญาวิทยาในประเทศไทย

นักอาชญาวิทยาในประเทศไทย

                                                                                                                           นัทธี จิตสว่าง

ค่าว่า “อาชญาวิทยา” เป็นคำที่ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเท่าใดนัก แม้หลายคนจะพอเดาได้ว่าคงจะเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรม แต่ไม่เข้าใจขอบเขตและเนื้อหาของอาชญาวิทยาเท่าใดนัก และเมื่อยิ่งกล่าวถึง “นักอาชญาวิทยา” (Criminologist) ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก

นักอาชญาวิทยาคือใคร ใครบ้างที่ถือว่าเป็นนักอาชญาวิทยา

ในประเด็นนี้มีผู้ให้ความหมายของนักอาชญาวิทยาไว้หลากหลาย(1) แต่โดยรวมแล้ว ผู้เขียนจะขอให้ความหมายของนักอาชญาวิทยาอย่างแคบ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องปัญหาของอาชญากรรม สาเหตุของอาชญากรรมและการกระทำผิดของอาชญากร รวมถึงการป้องกันและการป้องกันและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด นอกจากนักอาชญาวิทยาจะมีความรอบรู้ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังจะต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องโดยเฉพาะด้วย กล่าวคือนักอาชญาวิทยาบางคน อาจเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์วิจัย แต่บางคนเชี่ยวชาญในการนำความรู้อาชญาวิทยาไปใช้ในการกำหนดนโยบายหรือวางแผนการปฏิบัติ นักอาชญาวิทยาบางคนอาจเชี่ยวชาญในเรื่องของอาชญากรรมพื้นฐาน แต่นักอาชญาวิทยาบางคนอาจมีความเชี่ยวชาญอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ บางคนเชี่ยวชาญในเรื่องการป้องกันอาชญากรรมแต่ บางคนเชี่ยวชาญในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด แต่ที่สำคัญคือนักอาชญาวิทยาไม่ใช่ผู้ลงมือปฏิบัติงานประจำเอง แต่เป็นนักวิชาการที่ใช้ความรู้ทางอาชญาวิทยาวิเคราะห์ปัญหาอาชญากรรม

นักอาชญาวิทยาอาจใช้ความรู้ทางอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการกระทำผิดในคดีใดคดีหนึ่ง แต่นักอาชญาวิทยาจำไม่เข้าไปพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดในคดีดังกล่าว และจะจับกุมผู้กระทำผิดอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักอาชญาวิทยาอาจใช้ความรู้ทางอาชญาวิทยาและ ทัณฑวิทยาวิเคราะห์ถึงโทษและแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ในคดีอาชญากรรมรายใดรายหนึ่ง แต่นักอาชญาวิทยาจะไม่เข้าไปตัดสินว่าควรถูกลงโทษจำคุกกี่ปี ซึ่งเป็นเรื่องของผู้พิพากษา นักอาชญาวิทยาอาจใช้ความรู้ทางอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาวิเคราะห์สาเหตุของการแหกคุกของนักโทษสำคัญรายหนึ่ง แต่จะป้องกันและจัดการกับนักโทษรายนั้นอย่างไรเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

นักอาชญาวิทยาไม่ใช่นักนิติวิทยาศาสตร์เพราะในขณะที่นักนิติวิทยาศาสตร์เน้นที่การหาพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำไปสู่ผู้กระทำผิด แต่นักอาชญาวิทยาเน้นที่ ลักษณะทางสังคมและจิตใจของผู้กระทำผิดที่นำสู่การเปิดเผยถึงแบบแผนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดและตัวผู้กระทำผิด

ผู้ที่จะเป็นนักอาชญาวิทยาได้ส่วนใหญ่ อาจเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาในด้านอาชญาวิทยามาในระดับปริญญาโท หรือเอก และต้องศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติงานทั้งทางวิชาการหรือปฏิบัติจนเกิดความรอบรู้ และเชี่ยวชาญในงานเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมด้านใดด้านหนึ่ง แต่การที่จะรอบรู้และเชี่ยวชาญในด้านอาชญาวิทยาได้จะต้องมีการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญและความรู้ลึกซึ้งอย่างแท้จริง ดังนั้นไม่จำเป็นที่ผู้สำเร็จการศึกษาหรือเรียนรู้ด้านอาชญาวิทยามาทุกคนจะเป็นนักอาชญาวิทยา การจะเป็นนักอาชญาวิทยาได้ ผู้ที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจะต้องมีการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและทำการศึกษาเรียนรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความชำนาญสามารถที่จะมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ โดยผลงานทางด้านวิชาการ เช่น งานวิจัย บทความ หนังสือ หรืองานสัมมนาทางวิชาการ หรืองกึ่งวิชาการ กึ่งปฏิบัติ  เช่นงานโครงการที่ประยุกต์ใช้ วิชาการในการวิเคราะห์และขับเคลื่อนโครงการ

สำหรับนักอาชญาวิทยาในประเทศไทยที่สมควรได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยาภายในประเทศไทย ในยุคแรกๆ คือ ดร.เอ็ด เอกู และอาจารย์สง่า ลี้ตระกูล ซึ่งเขียนตำราด้านอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาขึ้นเป็นคนแรกนับเป็นการนำวิชาอาชญาวิทยามาเผยแพร่ในประเทศไทยต่อจากนั้นจึงมีอาจารย์ไชยเจริญ สันติสิริ อาจารย์ชาย เสวิกุล   อาจารย์สง่า ลีนะสมิต อาจารย์ดร.เสริน ปุณณะหิตานนท์ และอาจารย์ทวี ชูทรัพย์ นับเป็นรุ่นแรกและรุ่นบุกเบิกอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาของไทย ก่อนที่จะตามมาด้วยรุ่นที่สอง รุ่นที่สามและรุ่นที่สี่ ซึ่งเป็นรุ่นปัจจุบัน

อาชญาวิทยาเป็นวิชาชีพหรือไม่

อาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่เป็นวิชาชีพในความหมายของ วิชาชีพที่เคร่งครัด กล่าวคือ ยังไม่มีระบบคัดกรองเข้าสู่ วิชาชีพ ยังขาดสมาคมวิชาชีพ ที่กำหนดกฎเกณฑ์การทำงานและจรรยาบรรณวิชาชีพ(2) และผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาด้านอาชญาวิทยาจึงจะทำงานได้ เพียงแต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านอาชญาวิทยามาจะมีการเรียนรู้ได้เร็วกว่าโดยไม่ต้องหาประสบการณ์นานและสามารถตัดสินใจได้อย่างมีหลักเกณฑ์มากขึ้น ที่สำคัญในประเทศไทยยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นนักอาชญาวิทยาอาชีพ ดังเช่นในบางประเทศ ฟิลิปปินส์ การที่บุคคลจะถูกกเรียกว่าเป็นนักอาชญาวิทยาได้จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเพื่อรับใบประกาศรับรองเป็นนักอาชญาวิทยาซึ่งการที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นนักอาชญาวิทยาวิชาชีพจะต้องเป็นผู้ที่มี ความรู้ด้านทฤษฎี อาชญาวิทยาและจะต้องเป็นผู้เข้าใจกับรูปแบบพฤติกรรมและสาเหตุปัจจัยของอาชญากรและอาชญากรรมทั้งในประเทศและของต่างประเทศ ตลอดจนแนวทางในการป้องกันและความคุมอาชญากรรมโดยต้องเป็นผู้มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาอาชญากรรมหรือประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติ(3)

 

ดังนั้นจะเห็นได้ขัดว่าอาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่เป็นวิชาชีพในความหมายของวิชาชีพที่เคร่งครัด นักอาชญาวิทยาเองก็ไม่ใช่นักวิชาชีพ หากแต่เป็นนักวิชาการ ที่สามารถนำความรู้ทางวิชาการไปประยุกต์ เพื่อแนะนำการทำงานในการปฏิบัติต่อไป แต่เมื่อไม่มีระบบคัดกรองคน ไม่มีสมาคม หรือจดทะเบียนรับรองการเป็นนักอาชญาวิทยาแล้ว ใครบ้างทีจะถือว่า เป็นนักอาชญาวิทยา สำหรับในประเทศไทย การจะเป็นนักอาชญาวิทยา จึงขึ้นอยู่กับการยอมรับและการเรียกขานของคนทั่วไปในสังคม ว่าเป็นนักอาชญาวิทยาซึ่งจะเรียกขานผู้ทีมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านอาชญาวิทยาและปัญหาของอาชญากรรมเป็นหลัก โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีผลงานแพร่หลาย และต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับทั้งนี้อาจเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาอาชญาวิทยาโดยตรงหรืออาจศึกษามาจากสาขาวิชาอื่น แต่มีการศึกษาและสนใจในการสร้างผลงานทางวิชาการด้านอาชญาวิทยาอย่างต่อเนื่องและแพร่หลาย ก็จะได้รับการยอมรับและเรียกขานว่าเป็นนักอาชญาวิทยา

ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมของนักอาชญาวิทยาที่จะเป็นศูนย์รวมของของนักอาชญาวิทยาในการพัฒนาองค์ความรู้ กำหนดมาตรฐานวางแนวจรรยาบรรณของนักอาชญาวิทยา นักอาชญาวิทยาในประเทศไทยจึงอยู่ในระบบกระจัดกระจาย ขาดความเป็นปึกแผ่น และไม่มีความชัดเจน ในความเป็นนักอาชญาวิทยาขณะเดียวกันนอกจากจะไม่มีสมาคมของนักอาชญาวิทยาแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีสถาบันอาชญาวิทยาของประเทศอีกด้วย ทำให้ขาดมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในสาขานี้อย่างความต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่มีความพยายามในการจัดตั้งสถาบันอาชญาวิทยาขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ซึ่งในครั้งนั้นเป็นความพยายามร่วมกันของกรมราชทัณฑ์ของไทยนำโดยอดีตอธิบดีทวี ชูทรัพย์และสถาบันอาชญาวิทยาของออสเตรเลียโดย นายวิลเลียม คลิฟฟอร์ด ผู้อำนวยการสถาบันฯ ที่เข้ามาให้คำแนะนำในการจัดตั้ง(4) สถาบันดังกล่าวนี้เป็นสถาบันที่เน้นการวิจัยและนโยบายรวมตลอดถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในรูปแบบต่างๆ ดังเช่น สถาบันอาชญาวิทยาของเกาหลี ซึ่งมีนักอาชญาวิทยาในระดับปริญญาเอกอยู่ร่วม 70 คนหรือสถาบันอาชญาวิทยาของออสเตรเลียที่มีบทบาทในการศึกษาข้อมูลด้านอาชญากรรมและใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย เสนอต่อรัฐบาล โดยมีนักอาชญาวิทยาสังกัดอยู่จำนวนมากเช่นกัน ประเด็นของการจัดตั้งสถาบันอาชญาวิทยาในประเทศไทยอยู่ที่ว่าการสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานในกระทรวงซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามไม่ว่าในกรณีใด ประเทศไทยก็ควรจะมีศูนย์รวมของเครือข่ายนักอาชญาวิทยาในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมทางวิชาการและเอกลักษณ์ของสาขาวิชาตลอดจนถึงความเป็นปึกแผ่นของ นักอาชญาวิทยา ซึ่งแม้จะไม่ใช่นักวิชาชีพที่สมบูรณ์แต่ก็แสดงถึงเอกลักษณ์และความมีตัวตนของนักอาชญาวิทยาในประเทศไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ที่ถูกจัดว่าเป็นนักอาชญาวิทยามีไม่มากทั้งๆ ที่มีผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านอาชญาวิทยาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่มีไม่กี่คนที่ยังคงมุ่งมันศึกษาวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการจนเกิดความเชี่ยวชาญและรอบรู้ในประเด็นปัญหาอาชญากรรม อย่างลึกซึ้ง และได้มีการแสดงออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนจนได้รับการยอมรับว่าเป็น “นักอาชญาวิทยา”

บทบาทที่พึงประสงค์ของนักอาชญาวิทยาไทย

การที่อาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่มีทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นมาในบริบทของสังคมไทย หรือจากนักอาชญาวิทยาของไทยเอง ทำให้นักอาชญาวิทยาในประเทศไทย ยังคงอาศัยทฤษฎีอาชญาวิทยาที่พัฒนาขึ้นมาโดยสังคมตะวันตกเป็นหลัก เพื่อนำมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์อาชญากรรม หรือประยุกต์ในการแก้ปัญหาทางปฏิบัติ ในงานกระบวนการยุติธรรม โดยเหตุนี้จึงทำให้การศึกษาวิจัยของนักอาชญาวิทยาของไทยจึงเน้นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี มากกว่าการที่จะสร้างทฤษฎี หรือพัฒนาองค์ความรู้ ทางวิชาการขึ้นมาใหม่ งานวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นงานวิจัยที่มุ่งตอบปัญหาในทางปฏิบัติหรือในเชิงนโยบาย ระเบียบวิธีในงานวิจัยจะเน้นการวิจัยเชิงคุณภาพมากกว่าการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อทดสอบทฤษฎี ในขณะที่ทฤษฎีที่ใช้ก็จะเป็นทฤษฎีเชิงปทัสถาน (Normative theory) มากกว่าจะเป็นทฤษฎีเชิงประจักษ์ (Empirical theory) ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งเน้นการตอบปัญหาในทางปฏิบัติมากกว่าการสร้างทฤษฎีหรือองค์ความรู้ใหม่ซึ่งเป็นผล ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งทุนวิจัยที่มุ่งจัดสรรงานวิจัยให้กับงานวิจัยที่ตอบสนองต่อปัญหาในทางปฏิบัติ จึงทำให้นักอาชญาวิทยาของไทยทุ่มกับงานวิจัยเพื่อตอบปัญหาในทางปฏิบัติ

เมื่องานวิจัยและงานวิชาการของนักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่ เน้นทางด้านการปฏิบัติและด้านนโยบาย ก็มีผลทำให้อาชญาวิทยาในประเทศไทยห่างไกลความเป็นศาสตร์มากขึ้น ขาดทฤษฎีของตนเองและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยา ซึ่งเป็นหัวใจของอาชญาวิทยา เช่นกัน เพราะหากนักอาชญาวิทยาไม่มีองค์ความรู้ทางวิชาการไม่มีทฤษฎี ก็จะเป็นการปฏิบัติงานที่อาศัยความชำนาญหรืออาศัยสามัญสำนึก และค่านิยมมากกว่าหลักวิชาการซึ่งจะทำให้หาความแน่นอนไม่ได้ ปัญหาจึงมีอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ เพราะนักอาชญาวิทยาต้องเป็นทั้ง “นักวิชาการที่ไม่ทอดทิ้งหลักปฏิบัติ และเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ทอดทิ้งหลักวิชาการ” ดังนั้นสำหรับบทบาทของอาชญาวิทยาในประเทศไทยในอนาคตจึงจะต้องหาทางในการเสริมบทบาททางวิชาการให้มากขึ้น จะต้องมีการส่งเสริมงานวิจัยที่มุ่งสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้เพื่อให้นักอาชญาวิทยาสามารถสร้างความสมดุลระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

อีกประเด็นหนึ่งในบทบาทของนักอาชญาวิทยาที่พึ่งประสงค์ คือจะต้องเป็นนักอาชญาวิทยาที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของปัญหาอาชญากรรม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบการกระทำผิดตลอดจน แนวทางการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้แนวทางการศึกษาปัญหาอาชญากรรมต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากอาชญากรรมพื้นฐานไปสู่อาชญากรรมขั้นสูง และอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้น นักอาชญาวิทยาจึงต้องตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านทฤษฎีและระเบียบวิธีในการวิจัยซึ่งเปลี่ยนแปลงตามตัวแปรและสภาพแวดล้อมต่างๆ นักอาชญาวิทยาจึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวในวงการอาชญาวิทยาจากการประชุมทางอาชญาวิทยาระดับโลกและระดับภูมิภาคซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติด้วยโดยเฉพาะในงานยุติธรรมที่มีแนวโน้มที่สำคัญ 5 ประการคือ เรื่องความเป็นสากลและมาตรฐานสากลในงานกระบวนการยุติธรรมต่างๆ เรื่องวัดผลสำเร็จของงานที่เป็นรูปธรรม มีตัวบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน เรื่องความเสมอภาคต่อกลุ่มเปาะบางที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เรื่องการเผชิญต่อภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกันที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่และกระแสเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ แนวโน้มดังกล่าวนี้นับเป็นแนวโน้มที่นักอาชญาวิทยาจะต้องศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด

สรุป

นักอาชญาวิทยาในประเทศไทย หมายถึงผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องปัญหาอาชญากรรม สาเหตุและการป้องกันอาชญากรรมโดยมีผลงานการศึกษาวิจัย เผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง แม้นักอาชญาวิทยาในประเทศไทยจะไม่ใช่วิชาชีพในความหมายที่เคร่งครัด แต่นักอาชญาวิทยาในประเทศไทยก็เป็นผู้ที่ใช้ความรู้ไปเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ งานวิจัยของนักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่มุ่งตอบปัญหาหรือในเชิงนโยบาย ซึ่งทำให้อาชญาวิทยาในประเทศไทย ห่างไกลความเป็นศาสตร์มากยิ่งขึ้น ขาดทฤษฎีของตนเองและขาดการพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ ปัญหาจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะทำให้นักอาชญาวิทยาในประเทศไทย สร้างความสมดุลทั้งทางวิชาการและการนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทั้งในประเทศและสากลได้

อ้างอิง

1. Edwin H.Sutherland , Principles of Criminology 4TH ed .(Philadelphia: Lippineott,1947) และ Paul W. Toppan,Crime , Justice and Correction (New York:      Me Graw – Hill ,1960)

2.  จำเนียร จวงตระกูล “นิยามหรือคำจำกัดความของ HR Professional” ใน 40ปี PMAT บนเส้นทางการบริการทรัพยากรบุคคลไทย (บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จํากัด) 2550

3. BS in Criminology in Philippines สืบค้น จาก htt://www.finduniversity –ph/majors/bs-in – Criminology- Philippines / เมื่อวันที่ 22/5/2558

4. กรมราชทัณฑ์,รายงานการสัมมนาในกระบวนการยุติธรรม (โรงพิมพ์กรมราชทัณฑ์,2552)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม