มุมมองของนักอาชญาวิทยาต่อสถิติอาชญากรรมและการกระทำความผิดซ้ำ

มุมมองของนักอาชญาวิทยาต่อสถิติอาชญากรรมและการกระทำความผิดซ้ำ

ชมพูนุท ทองสุโชติ ผู้สัมภาษณ์

ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างๆ อยู่ทุกวัน และนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากรายงานสรุปสถิติการรับแจ้งเหตุและการดำเนินการของ ตำรวจเกี่ยวกับฐานความผิดคดีอาญาในรอบ 12 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจำแนกคดีออกเป็น 4 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ 1 เป็นฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ มีการรับแจ้งเหตุ 27,607 ราย กลุ่มที่ 2 ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ รับแจ้ง 75,557 ราย กลุ่มที่ 3 ฐานความผิดพิเศษ รับแจ้ง 33,174 ราย และกลุ่มที่ 4 คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย มีการจับกุม จำนวน 521,475 ราย ซึ่งในภาพรวมของ
การปราบปรามอาชญากรรม มีผลการจับกุม คิดเป็นร้อยละ 83.70 ของคดีที่รับคำร้องทุกข์ทั้งหมด

หลายฝ่าย เห็นพ้องตรงกันว่า สังคมไทยควรจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อลดความรุนแรงเพราะหากไม่ยังไม่แก้ไขคนส่วนใหญ่ก็จะกล่าวโทษไปยังผู้ที่เคยต้องโทษในเรือนจำว่าเป็น
ผู้ที่ออกมากระทำผิดซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามนำสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังมาเพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่จะช่วยพิสูจน์ได้ว่าอดีตผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำไม่ใช่ผู้กระทำผิดในคดีอาชญากรรมและความรุนแรงทั้งหมด อีกทั้งเพื่อประเมินความสำเร็จของระบบราชทัณฑ์ในการฟื้นฟูผู้ต้องขังด้วย

ถ้าพูดถึง “อาชญาวิทยา” หรือ “ระบบงานราชทัณฑ์” เชื่อว่าอาจจะมีทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก หรือบางคนอาจจะรู้แต่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง วันนี้เราจะได้ฟังจากกูรู ผู้เชี่ยวชาญ และนักอาชญาวิทยาที่คร่ำหวอดในเรื่องนี้ทั้งด้านการศึกษาวิจัย การสอน และ การปฏิบัติจริง

 

เจาะลึกประเด็นต่างๆ ผ่านมุมมองเกี่ยวกับอาชญาวิทยา กับ
“ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา”

  

“นักอาชญาวิทยา” ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?

ต้องมีการศึกษาและค้นคว้าวิจัยในปัญหาของอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง ถ้าเพียงแต่ปฏิบัติหรือบริหารแต่ไม่มีการศึกษาวิจัยก็ยังไม่นับเป็นนักอาชญาวิทยา แต่ถ้าเป็นได้ทั้ง นักวิชาการที่ไม่ทอดทิ้ง
หลักปฏิบัติและเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ทอดทิ้งหลักวิชาการก็ยิ่งดี

 

มีคนกล่าวว่านักอาชญาวิทยาจะสนใจเรื่องสถิติมากกว่าเรื่องอื่น จริงหรือ?

เรื่องการนำข้อมูลสถิติต่างๆ มาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับที่นักอาชญาวิทยาเหมือนที่ Edwards Deming เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าปราศจากข้อมูลสิ่งที่คุณบอกคนอื่น มันก็แค่ความเห็น”

นักอาชญาวิทยาอาจไม่เชี่ยวชาญในการจัดทำสถิติ การใช้สูตรต่างๆ แต่เน้นเรื่องการตีความและวิเคราะห์สถิติ และสถิติจะสำคัญหรือไม่อยู่ที่ว่ามีการจัดเก็บอย่างไร “Garbage in , garbage out”

 

“นักอาชญาวิทยาเน้นเรื่องการตีความและวิเคราะห์สถิติ
และสถิติจะสำคัญหรือไม่ อยู่ที่ว่ามีการจัดเก็บอย่างไร”

 

ช่วยขยายความ “Garbage in , garbage out”?

ก็เมื่อเรานำขยะเข้าไปจัดเก็บ สิ่งที่ได้ออกมาก็คือ ขยะ เปรียบเช่นสถิติ ถ้านำข้อมูลที่เป็นขยะเข้าไป ก็จะได้สถิติที่ผิดเพี้ยนเป็นขยะออกมา

 

 

 

 

การแปลที่มาของสถิติมีขั้นตอนอย่างไร และเป็นหน้าที่ของนักอาชญาวิทยาหรือ ?

         การจะวิเคราะห์ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยการวิเคราะห์ และการแปลความข้อมูลและสถิติด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของนักอาชญาวิทยา

 

จากสถิติการกระทำผิดซ้ำของประเทศไทยไทยที่บ่งบอกว่าต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส และอังกฤษ เราสามารถตีความได้เลยหรือไม่ว่าไทยเราแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังในระบบงานราชทัณฑ์ดีกว่าประเทศอื่น ?

เรื่องการนำสถิติการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกันนี้ จะต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณา คือ ระบบงานราชทัณฑ์ในแต่ละประเทศจะคุมขังผู้ต้องขังที่คัดกรองแล้วว่าเป็นอันตรายต่อสังคมจริงๆ หรือ เป็น
Hardcore จริงๆ ขณะที่ผู้ที่กระทำผิดเล็กน้อยหรือทำผิดโดยพลั้งพลาด ประเทศเหล่านี้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส และอังกฤษเขาจะไม่นำคนเหล่านี้เข้าคุก แต่จะใช้วิธีการเลี่ยงโทษจำคุก ดังนั้น สถิติการกระทำผิดซ้ำของประเทศนั้นๆ จะสูง เพราะมีแต่พวกเสี่ยงสูงที่จะกระทำผิดซ้ำ ตรงกันข้ามกับประเทศที่นำผู้ต้องขังทุกคดีทั้งคดีเล็กน้อย กระทำผิดโดยพลั้งพลาด ไปจนถึงคดีที่กระทำผิดร้ายแรง เข้าไปขังในเรือนจำหมด ทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำ เพราะฐานในการคำนวณกว้างขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้นเราสามารถเปรียบเทียบสถิติการกระทำผิดซ้ำของเรือนจำต่างๆ ในประเทศไทย และใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในแต่ละเรือนจำได้หรือไม่ ?

เรื่องนี้เป็นปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ฐานทางสถิติไม่เท่ากัน เพราะเรือนจำในประเทศไทยมีหลายประเภท และแต่ละประเภทก็คุมขังผู้ข้องขังที่มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำแตกต่างกัน ถ้าเรือนจำไหน
คุมขังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทำผิดซ้ำเป็นจำนวนมากก็มีโอกาสที่จะมีสถิติการกระทำผิดซ้ำสูง
ซึ่งต่างจากเรือนจำที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงต่ำในการกระทำผิดซ้ำ เรือนจำนั้นก็จะมีสถิติการกระทำผิดซ้ำต่ำ ดังนั้น ถ้าจะเอาเรื่องอัตราการกระทำผิดซ้ำมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จก็จะเกิดการเสียเปรียบกัน

ถ้าจะนำสถิติการกระทำผิดซ้ำไปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโปรแกรมต่างๆ เช่น การพักการลงโทษ โปรแกรม SME เปลี่ยนชีวิต, โปรแกรมเกี่ยวกับ Social Reintegration ต่างๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ ?

เรื่องนี้ก็ทำได้แต่ต้องระวังในการตีความเช่นกัน เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ หรือกับพวกที่ไม่ได้เข้าโครงการ คือ พวกที่ปล่อยพักโทษ กับ พวกที่ปล่อยตามป้าย ปรากฏว่าพวกที่ปล่อยพักโทษมีสถิติการกระทำผิดซ้ำต่ำกว่า หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Social Reintegration อื่นๆ เช่น
คนที่ประพฤติดีจนได้รับโอกาสให้ไปทำงานที่โรงงานภายนอกเรือนจำ มีงานรองรับอย่างดีเมื่อพ้นโทษ หรือมีการให้ทุนไปประกอบอาชีพอิสระ ปรากฏว่าคนเหล่านี้ประสบความสำเร็จไม่กระทำผิดซ้ำอีก แต่ถ้าหากนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้เข้าโครงการ เช่นนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะคนที่ได้รับเลือกเข้าโครงการไม่ว่าจะเป็นการพักโทษก็ดี หรือเข้าโครงการ Social Reintegration ต่างๆ ก็ดี จะเป็นคนที่พร้อมอยู่แล้ว มีครอบครัวรองรับมีอาชีพ แต่พลั้งพลาดไป คนเหล่านี้บางคนไม่ต้องทำอะไรก็ไม่กระทำผิดซ้ำ เข็ดแล้ว ผิดกับพวกที่เป็น Hardcore และพวกกระทำผิดซ้ำซาก คนกลุ่มนี้จะไม่มีครอบครัวรองรับ ไม่มีอาชีพ อีกทั้งยังมีพื้นฐานนิสัยที่ไม่สนใจจะอบรมเพื่อให้ได้ชั้น พวกนี้จึงไม่ได้รับการคัดเลือก
และถูกปล่อยตามป้าย ซึ่งก็จะกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะไม่ได้รับการอบรมหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ

 

 

เรากำลังช่วยเหลือผิดคนอย่างนั้นหรือ ?

ก็ไม่เชิง แต่เป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรไปกับคน กลุ่มที่ควรจะใช้หรือไม่ เป็น Type 2 error ในทางสถิติคือช่วยคนไม่จำเป็นต้องช่วย แต่คนที่ควรช่วยกลับไม่ทำอะไร จึงทำให้สถิติการกระทำผิดซ้ำในภาพรวมไม่ลดลง ซึ่งก็เพราะคนกลุ่มหลังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ไปเน้นพวกบัวพ้นน้ำหรือบัวปริ่มน้ำ จะบอกว่าช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ได้อยู่ แต่พวกที่กระทำผิดซ้ำซากหรือพวกที่มีความเสี่ยงสูงพวกนี้จะถูกละเลย จึงไม่สามารถเข้าเกณฑ์ที่จะสมัครอะไรได้ ไม่มีคนรับรอง ครอบครัวไม่สนใจ
พวกนี้จึงเป็นพวกที่ควรเน้นหนักในการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ซึ่งต้องยอมรับว่ายาก เพราะเป็นพวกที่เปรียบเสมือนบัวในตม

ในขณะที่ต่างประเทศจะมีโปรแกรมระยะยาวอย่างเข้มข้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของคนเหล่านี้ เช่น ที่สิงคโปร์มีโปรแกรม 10 เดือน อบรมอย่างจริงจัง ในขณะที่โปรแกรมชุมชนบำบัดสำหรับ
ผู้ติดยาใช้เวลาอบรมเข้มถึง 2 ปี แต่ในบางประเทศที่หมดหวังต่อการอบรมปรับเปลี่ยนคนเหล่านี้จะใช้วิธีคัดออกจากสังคมระยะยาว กระทำผิดซ้ำ 3 ครั้งแม้ในคดีเล็กน้อย ก็ถูกลงโทษจำคุกระยะยาวแล้วให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมของพวกเขา

 

ประเภทคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดซ้ำ เช่น คดีกระทำผิดทางเพศ ข่มขืน ผู้กระทำผิดมักจะกระทำผิดซ้ำ เราควรมีการติดตามตัวเมื่อพ้นโทษหรือไม่ ?

“เรื่องนี้ถ้าไปดูสถิติผู้ต้องขังของราชทัณฑ์แล้วจะพบว่า ผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศของเรามีต่ำมาก เพราะคนที่กระทำผิดคดีทางเพศบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกนักข่มขืนที่มีความผิดปกติ คดีส่วนใหญ่เป็นพวกปกติทั่วไปที่มีความสัมพันธ์กันแต่พ่อแม่ไม่ยอม หรือพวกที่กระทำผิดเพราะช่วงโอกาส การติดตามพวกนี้หลังพ้นโทษแบบต่างประเทศจะทำให้เกิดการตีตราบาป ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมยากลำบากหลังพ้นโทษ อีกทั้งพวกที่กระทำผิดทางเพศ เช่น คดีข่มขืนจะได้รับโทษจำคุกระยะยาว ไม่ได้ลดโทษ คนเหล่านี้จึงถูกกันออกจากสังคมไปนาน และจากงานวิจัยพบว่า พวกเขามองว่าไม่คุ้มค่าถ้าไม่หักห้ามใจหรือกลับไปกระทำผิดอีก ในขณะที่พวกที่กระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ พอไปดูคดีพบว่า ส่วนใหญ่เคยทำผิดในคดีอื่น เช่น ยาเสพติด หรือคดีลักทรัพย์ซึ่งต้องจำคุก 1 – 3 ปี แล้วพ้นโทษออกมาทำผิดในคดีทางเพศ ดังนั้นจึงควรหันมาป้องกันในจุดนี้มากกว่า”

 

 

 

หนึ่งในคำยืนยันจาก ท่านนัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา

 

Picture1

“พวกที่กระทำผิดซ้ำในคดีทางเพศ พอไปดูคดีพบว่า
ส่วนใหญ่เคยทำผิดในคดีอื่น เช่น ยาเสพติด หรือคดีลักทรัพย์ซึ่งต้องจำคุก 1 – 3 ปี แล้วพ้นโทษออกมาทำผิดในคดีทางเพศ ดังนั้นจึงควรหันมาป้องกันในจุดนี้มากกว่า”

 

เท่ากับว่าไม่จำเป็นต้องติดตามตัวหลังพ้นโทษกับผู้กระทำผิดทางเพศ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ?

อาจมีข้อยกเว้นสำหรับพวกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า “ป่วย” ซึ่งจะมีพวกผู้กระทำผิดทางเพศที่มีความผิดปกติถึงขั้น “ป่วย” อันนี้ควรดูแลเป็นพิเศษ

 

เข้าใจว่าประเทศไทยหรือแม้กระทั่งในต่างประเทศอาจมีปัญหาเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติอาชญากรรมที่ทันสมัยให้ทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ จะมีวิธีใดที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลสถิติที่น่าเชื่อถือมาเพื่อแปลความได้อย่างมีประสิทธิภาพ ?

         “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามานาน นับ 50 ปี แต่ละหน่วยก็จะมีการจัดเก็บสถิติกันเอง แต่ในอนาคต ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีน่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะการทำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น”

 

 

 

 

 

สถิติจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร ?

“อาจจะไม่ได้ช่วยลดโดยตรง แต่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ หากมีสถิติที่มั่นคงและเชื่อถือได้”

 

นักอาชญาวิทยาควรปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่ก้าวกระโดดอย่างไร ?

“โลกในยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ปัญหาอาชญากรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งจำเป็นที่นักอาชญาวิทยาจะต้องศึกษาและเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและควบคุมปัญหาอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

ได้เห็นกันแล้วว่า เรื่องสถิติในงานกระบวนการยุติธรรมหลายคนอาจมองว่าเป็นแค่เรื่องพื้นๆ
ของคนทั่วไป และมักนำไปใช้แปลความตามตัวเลขที่ปรากฏ แต่สำหรับนักอาชญาวิทยาแล้ว จะไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่นักอาชญาวิทยาจะต้องวิเคราะห์ถึงที่มาของสถิติอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่เวลาที่บันทึก หน่วยงานที่บันทึก และขอบเขตของเรื่องที่จะบันทึก ซึ่งผลของการแปลความสถิติที่ทำอย่างลึกซึ้ง จะทำให้มีมุมมองที่ต่างจากคนทั่วไป อีกทั้งในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคก้าวกระโดด สิ่งใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ ล้วนเข้ามาท้าทาย ทำให้นักอาชญาวิทยาไม่เพียงแต่เป็นผู้ที่ต้องเข้าใจทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จักวิเคราะห์ทั้งตนเอง และข้อมูล พร้อมทั้งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันอยู่เสมอ รวมถึงรู้จักค้นหาเครื่องมือที่จะสามารถหยิบฉวยมาใช้แก้ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่องของสถิติ แม้ใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ตัวตน
ของนักอาชญาวิทยาปรากฏชัดขึ้น

 

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม