ควรติด EM ที่ “ใจ” ของผู้ต้องขังกลุ่มคดีร้ายแรง 7 ประเภท (Watch List)

ควรติด EM ที่ “ใจ” ของผู้ต้องขังกลุ่มคดีร้ายแรง 7 ประเภท (Watch List)

นัทธี จิตสว่าง

กรณีที่มีอดีตนักโทษที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องพ้นโทษออกมาจากเรือนจำได้ไปก่อคดีฆ่าคนตายขึ้นอีก ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง ทำให้กระทรวงยุติธรรมต้องหันมาทบทวนเกี่ยวกับการจัดการกับผู้กระทำผิดในคดีที่ร้ายแรง ซึ่งกำหนดขึ้นมา 7 ประเภท คือ ฆ่าข่มขืนเด็ก ฆ่าข่มขืน ฆาตกรต่อเนื่อง ฆาตกรโรคจิต สังหารหมู่ ปล้นฆ่าชิงทรัพย์ และนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ ที่พ้นโทษออกมาไม่ให้กลับไปกระทำผิดขึ้นอีก โดยเบื้องต้นกระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งศูนย์ JSOC ขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวังและเผยแพร่ข่าวสารให้สังคมรับรู้ ถ้าสังคมใดรับรู้ว่าผู้พ้นโทษเหล่านี้อยู่ที่ใดจะได้มีความระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับจะได้มีความปลอดภัย

การจัดตั้งศูนย์ JSOC ขึ้นมามีข้อน่าพิจารณาหลายประการ ในประการแรกศูนย์ JSOC จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายใดในการไปติดตามเฝ้าระวังบุคคลซึ่งพ้นโทษดังกล่าว เพราะเมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวเพราะต้องจำคุกครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาแล้ว ทางราชการก็จะไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดที่จะไปติดตามตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้พ้นโทษได้ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิแล้วยังเป็นการตอบย้ำ ตีตรา ความเป็นคนคุก ทำให้ยากต่อการกลับเข้าสู่สังคมขึ้นไปอีก ดังนั้นการที่จะทำให้ทางราชการมีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าไปดูแลผู้ต้องขังร้ายแรง 7 ประเภทนี้ ให้สามารถปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของสังคมได้ จึงควรเป็นการปล่อยแบบมีเงื่อนไข โดยใช้วิธีการพักการลงโทษ (Parole) ซึ่งเป็นการทดลองปล่อยผู้ต้องขังกลับสู่สังคมโดยยังไม่พ้นโทษภายใต้เงื่อนไขที่ทางการยังเข้าไปติดตามดูแลได้

การพักการลงโทษให้กับผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะต้องมีการวางเกณฑ์ในการพักการลงโทษโทษขึ้นมาเป็นการพักการลงโทษกรณีพิเศษ เพราะผู้ต้องขังคดีร้ายแรง 7 ประเภทนี้ อาจไม่มีคุณสมบัติที่จะผ่านเกณฑ์ การพักการลงโทษในกรณีปกติได้ เมื่อจะปล่อยผู้ต้องขังคดีร้ายแรง
7 ประเภทนี้ก่อนครบกำหนดโทษก็ต้องทำให้สาธารณชนคลายความกังวลและมั่นใจในการปล่อยผู้ต้องขังกลุ่มนี้กลับสู่สังคม ดังนั้นวิธีการที่จะติดตามดูแลผู้ต้องขังกลุ่มนี้เมื่อปล่อยพักการลงโทษกลับ
สู่สังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

วิธีที่จะติดตามดูแลผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะต้องไม่ใช่การมุ่งติดตามคอยระวังจับผิดเพราะกลัวกลุ่มคนกลุ่มนี้จะไปก่อความเดือดร้อนให้สังคม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสนอให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่เพียงพอที่จะป้องกันหรือยับยั้งการกระทำผิด หากบุคคลกลุ่มนี้คิดจะกระทำผิดได้ เพราะพวกเขาอาจจะฆ่าหรือข่มขืนผู้อื่นในขณะที่ข้อมือยังติด EM อยู่ก็ยังได้ ในทางตรงกันข้ามการที่จะป้องกันหรือยับยั้งการกระทำผิดขึ้นอีกของคนกลุ่มนี้จะต้องติด EM ที่ “ใจ” ของเขา

การติด EM ที่ใจหมายความว่าก่อนที่จะปล่อยเขาออกมาต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่ดี ปรับจิตใจเขาก่อน ปรับให้เขาค่อยๆ เรียนรู้สังคมใหม่ หลังจากที่ติดคุกอยู่เป็นเวลานาน และเมื่อปล่อยพักโทษออกมาก็จะต้องมีการดูแลหลังปล่อย (Aftercare) คือช่วยเหลือดูแลให้เขาสามารถยืนอยู่ในสังคม ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและกฎเกณฑ์เงื่อนไขของสังคมได้ ไม่ใช่ปล่อยมาแล้วค่อยมา “ตามจับผิด” อีกนัยหนึ่งปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เหมือนกับผู้ได้รับการพักการลงโทษในกรณีในกรณีปกติที่มีญาติ หรือคนคอยช่วยเหลือดูแล และอันที่จริง จะต้องทำการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและดูแลหลังปล่อยเข้มกว่า จริงจังกว่าผู้ได้รับการพ้นโทษกรณีปกติเสียอีก เช่น ในสิงคโปร์มีโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยสำหรับผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้นนานถึง 10 เดือน เพื่อป้องกันคนเหล่านี้ไปกระทำผิดซ้ำ เพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่ขาดแคลนโอกาสในทุกด้านมาตั้งแต่แรกและมักจะถูกละเลยมาตั้งแต่เมื่อแรกเข้าในเรือนจำเพราะเรือนจำจะไปเน้นการแก้ไขและให้โอกาสกลุ่มผู้ต้องขังที่แก้ไขได้ง่าย

การดำเนินการตามแนวนี้ก็จะสอดคล้องกับแนวการปฏิบัติในบางประเทศที่เน้นการกันผู้กระทำผิดที่จะอันตรายต่อสังคมให้ออกไปจากสังคมให้นานๆ เพื่อให้สังคมปลอดภัยจากคนกลุ่มนี้ และให้เวลาและความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมของเขา แม้จะต้องกันคนเหล่านี้ออกไป 10 ปี หรือ 29 ปี ก็ตามเพื่อป้องกันสังคม แต่เมื่อจะต้องปล่อยเขาคนกลุ่มนี้ออกมา ก็ต้องมีระบบพักโทษกรณีพิเศษ แล้วติด EM ที่ใจเขาโดยเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยบวกกับติดตามดูแลหลังปล่อยที่มีที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยเหลือเขาให้กลับสู่สังคมและปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของสังคมได้เมื่อพ้นโทษออกมา ดังนั้นหากมองกลับไปวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำในชุมชนของผู้กระทำผิดคดีร้ายแรง 7 ประเภทนี้ จึงมิใช่เริ่มต้นที่การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและจบลงที่การดูแลหลังปล่อย (Aftercare) แต่เริ่มต้นที่การจำแนกลักษณผู้กระทำผิดและต่อเนื่องถึงการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังที่จะระบุว่าผู้ต้องขังคนใดบ้างจะตกเป็น ผู้กระทำผิดคดีร้ายแรง 7 ประเภท ซึ่งจะต้อวถูกประทับตรา “ตราบาป” 7 ประเภทลงในหัวกระดาษ ของ ร.ท 101 หรือทะเบียนประวัติผู้ต้องขังซึ่งจะติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ชั้นใด หรือย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดใด ซึ่งเรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดประเด็นตามมาว่าใครจะทำหน้าที่ “พิพากษาครั้งที่สอง” ในการตัดสินว่าผู้ต้องขังคนใดจะกระทำผิดคดีร้ายแรง 7 ประเภทซึ่งอาจจะทำให้ชีวิตของผู้ต้องขังเหล่านี้ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำและพ้นโทษแตกต่างไปจากผู้ต้องขังอื่นๆ โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีประเด็นอีกว่าใครจะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ศูนย์ JSOC หรือเรือนจำและใครจะทำหน้าที่ดูแลหลังปล่อย ศูนย์ JSOC หรือองค์กรสงเคราะห์หลังปล่อยผนวกกับภาคเอกชนและชุมชน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “เชื่อมต่อ” และความต่อเนื่องในการดูแลความไว้ใจและสัมพันธ์ภาพ

นอกจากนี้ มีข้อที่น่าสังเกตที่อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาก่อคดีร้ายแรงกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของสังคมอาจไม่ใช่ผู้ตั้งขังคดี 7 ประเภทนี้ เพราะผู้ต้องขัง 7 ประเภทนี้อาจจะต้องโทษจำคุกอยู่เป็นเวลานาน ความชราภาพและเวลาอาจทำลายประสิทธิภาพหรือเครือข่ายในการประกอบอาชญากรรมของเขาไป แต่บ่อยครั้งที่ผู้กระทำผิดในคดีที่มีโทษจำคุกระยะสั้นที่เข้าออกเรือนจำหลายครั้ง ในคดียาเสพติดรายย่อยหรือคดีเกี่ยวกับทรัพย์ พ้นโทษออกไปก่อคดีฆาตกรรมรุนแรงหรือข่มขืนและฆ่าเด็ก เช่น คดีน้องอ้อมเมื่อปี พ.ศ. 2539 ที่ผู้กระทำผิดวนเวียนเข้าออกเรือนจำ 8 ครั้งและแต่ละครั้งแต่ละครั้งต้องโทษอยู่ประมาณครั้งละ 1 – 2 ปี และคดีอื่นๆ อีกหลายคดี ที่ผู้กระทำผิดซ้ำในคดีฆ่ารุนแรงโหดร้ายมาจากผู้พ้นโทษที่เคยต้องโทษจำคุกในคดีเล็กน้อยหลายครั้งแต่สะสมมาเรื่อยจนในที่สุดมาต่อคดีใหญ่ การเฝ้าระวังผู้พ้นโทษฉพาะคดีใหญ่ 7 คดี อาจทำให้ละเลยในการเฝ้าระวังผู้ต้องขังคดีเล็กน้อยที่ทำผิดซ้ำหลายครั้งต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ในสหรัฐมีกฎหมาย Three Strikes Law สำหรับกระทำผิดซ้ำ 3 ครั้งจะต้องโทษระยะยาว เพื่อกันออกจากสังคมโดยถือว่าเป็นผู้ต้องขังที่ควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นเดียวกับผู้ต้องขัง 7 ประเภทเช่นกัน

โดยสรุป การแยกปฏิบัติผู้ต้องขังที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาดกับผู้ต้องขังที่กระทำผิดด้วยความโหดร้ายทารุณมีลักษณะร้ายหรือมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะกระทำผิดร้ายแรงซ้ำ ที่จะต้องได้รับการกำหนดโทษที่แตกต่างกันนั้น ได้มีการเสนอให้มีการดำเนินการมานานแล้ว (นัทธี
จิตสว่าง , 2541 หน้า 192) การปล่อยผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดออกไปโดยเร็ว และการกันผู้กระทำผิดที่มีลักษณะร้ายไว้ในเรือนจำนานๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เวลาและกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ได้บ่มเพาะและขัดเกลาความคิด ทัศนคติตลอดจนการทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรมของเชา ซึ่งโปรแกรมการอบรมแก้ไขที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้ซึมซับและปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีชีวิตใหม่ ดังเช่นอดีตผู้ต้องขังที่เป็นนักร้องดังที่พึ่งพ้นโทษออกมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “เวลาและกิจกรรมเปลี่ยนเขาได้” ทั้งนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่ดีให้เขาได้ปรับตัวและมีการดูแลหลังปล่อยเพื่อให้กลับสู่สังคมได้ราบรื่น ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการเฝ้าระวังและติดตามดูแล และถ้ามีการติด EM ก็ควรจะติด EM ไว้ที่ใจเขาด้วย

อ้างอิง

นัทธี จิตสว่าง, (2541) หลักทัณฑวิทยา,โรงพิมพ์กรมราชทัณฑ์

Baker, Jalelah Abu, “New 10 month programme for hardcore drug offenders

unveiled”, www.straitstimes.com Singapore APR2,2013

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม