การป้องกันอาชญากรรม : บททบทวนวรรณกรรม

การป้องกันอาชญากรรม : บททบทวนวรรณกรรม

นัทธี จิตสว่าง

คำว่า “การป้องกันอาชญากรรม” มีความหมายที่หลากหลายเท่าๆ กับจำนวนผู้ให้ความหมาย ดังนั้นในการพิจารณาถึงการป้องกันอาชญากรรม นักอาชญาวิทยาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับขอบเขตหรือตัวแบบของการป้องกันอาชญากรรมรวมตลอดถึงระดับของการป้องกันอาชญากรรมมากกว่าที่จะพิจารณาถึงความหมาย (นัทธี จิตสว่าง 2555)

ดังนั้นในบทความเรื่องนี้ จึงจะเน้นการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับตัวแบบของการป้องกันอาชญากรรม และระดับของการป้องกันอาชญากรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แน่ชัดในเรื่องการป้องกันอาชญากรรรม

ตัวแบบของการป้องกันอาชญากรรม

ในการพิจารณาถึงขอบเขตและตัวแบบของการป้องกันอาชญากรรมนั้นมีมานานแล้ว แต่ที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเป็นงานของ C.R. Jeffery (1971) ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ “Crime Prevention Through Environmental Design” ซึ่งได้เสนอตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรม 3 แนว คือ

  1. ตัวแบบการข่มขู่ยับยั้ง (Deterrent Model) คือเน้นการปราบปรามลงโทษผ่านกระบวนการยุติธรรม ทำให้คนกลัวไม่กล้ากระทำผิด
  2. ตัวแบบฟื้นฟูแก้ไข (Rehabilitation Model) เน้นการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำผิด และฟื้นฟูแก้ไขสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การกระทำผิด เช่น ความยากจน การขาดการศึกษาและสวัสดิการ
  3. ตัวแบบการป้องกันโดยสภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Crime Control Through Environmental Engineering) ซึ่งเป็นตัวแบบใหม่ในขณะนั้น ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบทางวิศวกรรมในการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมตั้งแต่แรก เช่นการออกแบบผังเมือง อาคารสถานที่ ร้านค้า ในการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด

ตัวแบบการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมนี้ ต่อมาได้มีนักวิชาการพยายามขยายขอบเขตไปถึงการออกแบบเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม เช่น ออกแบบถนนหรือบริเวณพื้นที่ส่วนกลางให้ถูกเฝ้ามองโดยคนทั่วไป ซึ่งจะเป็นการตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด เพราะคนในสังคมจะช่วยเป็นหูเป็นตา (Newman 1972) อีกนัยหนึ่งเป็นการดึงเอาความสัมพันธ์ของชุมชนเข้ามาช่วยในการป้องกันอาชญากรรม โดยนัยนี้ (ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ 2526) จึงได้แยกการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมเป็นสองแนวคือการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมรูปธรรมกับการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อมนามธรรม

ตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมทั้งสี่แนวได้รับการยอมรับต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้บางส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น แนวคิดของ Felson (1987) มองว่าทั้งอาชญากรและเหยื่อเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะนิสัย และมีกิจกรรมที่มักทำเป็นประจำ ดังนั้น ในการวิเคราะห์อาชญากรรมจากแนวคิดกิจกรรมที่มักทำเป็นประจำนั้น (Routine Activities) สามารถระบุองค์ประกอบของอาชญากรรมได้ 3 ส่วน คือ 1) ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้กระทำผิด 2) เป้าหมายที่เหมาะสม และ 3) ผู้ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม เช่น บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้กระทำผิดที่สามารถป้องกันบุคคลเหล่านั้นจากการก่ออาชญากรรม หรืออาจมีการควบคุมทางสังคมในลักษณะไม่เป็นทางการทำให้อาชญากรไม่สามารถกระทำผิดได้ อีกนัยหนึ่ง อาจสรุปได้ว่า อาชญากรรมจะเกิดขึ้นเมื่อเหยื่อและผู้กระทำผิดได้มาพบกัน  โดยไม่มีผู้ป้องกัน หรือผู้ที่จะขัดขวางการกระทำผิดได้ ด้วยเหตุนี้ อาชญากรรมจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการแยกผู้ที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำผิดออกจากกัน ไม่ให้เจอกันนั่นเอง

ในส่วนของสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย (2017) ได้ศึกษาถึงแนวทาง ทฤษฎีและกลไกในการป้องกันอาชญากรรม โดยอธิบายว่า การป้องกันอาชญากรรม หมายถึง ยุทธศาสตร์หลากหลายรูปแบบที่บุคคล ชุมชน ธุรกิจ องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ และรัฐบาลทุกระดับนำไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งเป้าไปยังปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม ความไร้ระเบียบ และการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม (AOC2003; ECOSOC 2002; IPC 2008; Van Dijk & de Waard 1991 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย 2017) หากจะพิจารณาถึงแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมนั้น  ในความเป็นจริงมีวิธีการมากมาย โดยมีความแตกต่างกันในจุดมุ่งเน้นการดำเนินการ ประเภทของกิจกรรม ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ และกลไกในการนำแนวทางต่างๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติ สถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย (2017) ได้สรุปแนวทางป้องกันอาชญากรรมไว้ 3 แนว ดังนี้

 

 

  1. การป้องกันอาชญากรรมเชิงสภาพแวดล้อม(Environmental Crime Prevention)                    หมายถึงการป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ (Situational Crime Prevention)

และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและออกแบบชุมชนและเมืองเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้ลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม (Crawford 1998; Hughes 2007; Sutton, Cherney & White 2008 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

“การป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์” นี้Freilich and Newman (2017) อธิบายว่า ในทางทฤษฎี เป็นแนวทางลดอาชญากรรม ด้วยวิธีการทำให้ไม่สามารถประกอบอาชญากรรมได้ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีแรงจูงใจ หรือความประสงค์ในการกระทำผิดหรือไม่ รวมทั้งป้องปรามผู้กระทำผิดจากการประกอบอาชญากรรม อาจกล่าวได้ว่า การป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ มีจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างจากทฤษฎีทางอาชญาวิทยาอื่นๆ เนื่องจากต้องการลดโอกาสของอาชญากรรม มากกว่าการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำผิด โดยมีพื้นฐานบนความเชื่อที่ว่า อาชญากรรมมักเป็นเรื่องของโอกาส ดังนั้น จึงมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางบริบทหรือสภาพแวดล้อม เพื่อจำกัดโอกาสของผู้กระทำผิดในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับพฤติกรรมอาชญากร (Tonry & Farrington 1995 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) ทั้งนี้การป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์มีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1)    เกี่ยวกับทฤษฎีเกี่ยวกับโอกาสที่สำคัญๆ 3 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ทฤษฎี

รูปแบบอาชญากรรม และทฤษฎีการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล จุดมุ่งเน้นของทฤษฎีโอกาสทั้ง 3 ทฤษฎีนี้ ค่อนข้างแตกต่างกัน กล่าวคือ หากเป็นทฤษฎีกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่าปัจจัยสำคัญสามข้อ ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน นั้นคือ 1) ผู้กระทำผิดที่มีแรงจูงใจ 2) เป้าหมายที่เหมาะสม และ 3) การที่ผู้คุ้มกันที่มีความสามารถไม่อยู่ในขณะนั้น (Geason and Wilson, 1988) ขณะที่ทฤษฎีรูปแบบอาชญากรรมมุ่งอธิบายอิทธิพลของชุมชนและกลุ่มเพื่อนบ้าน พร้อมให้ความสำคัญไปที่เหตุผลว่าทำไมผู้กระทำผิดอาจมีโอกาสในการประกอบอาชญากรรมโดยบังเอิญในระหว่างชีวิตประจำวัน สำหรับทฤษฎีการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล มักเน้นไปที่แต่ละบุคคลมากกว่าและพยายามอธิบายกระบวนการตัดสินใจที่ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเลือกที่จะเข้าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือเหตุการณ์อาชญากรรมใดๆ รวมทั้งการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงโดยเปรียบเทียบกับรางวัลหรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการกระทำผิดนั้น (Clarke 2005; 1997 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

2)    มีการวิเคราะห์ปัญหาและปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม โดยระบุให้ทราบถึงผลการตอบสนอง

ที่อาจเกิดขึ้น การเลือกและนำผลการตอบสนองที่เหมาะสมซึ่งมีแนวโน้มที่ดีที่สุดไปปฏิบัติ การประเมินผล ตลอดจนการนำผลที่ได้ไปเผยแพร่

3)    การจำแนกลักษณะเทคนิคการป้องกันตามสถานการณ์ 25 ประการ ซึ่งเป็นเทคนิค การป้อง

กันอาชญากรรม 25 แบบของ Cornish & Clarke (2005 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) โดยเป็นการดำเนินการป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น ความมั่นคงปลอดภัยที่มีการปรับปรุงโดยทำให้มีระบบติดตามเฝ้าระวังที่ดีขึ้น และการติดกุญแจให้แน่นหนาขึ้น ภายใต้การจัดประเภท 5 ด้าน ซึ่งมีพื้นฐานบนกลไกที่สำคัญของวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • การเพิ่มความยากลำบากในการกระทำผิด
  • การเพิ่มความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับการกระทำผิด
  • การลดรางวัลหรือผลตอบแทนที่ได้รับจากการประกอบอาชญากรรม
  • การลดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อที่บุคคลที่จะกระทำผิด และ
  • การขจัดข้อแก้ตัวสำหรับพฤติกรรมกระทำผิด

การจำแนกลักษณะดังกล่าวนี้ ช่วยให้เกิดกรอบการทำงานที่เป็นประโยชน์สำหรับการอธิบายขอบเขตและเทคนิคตามสถานการณ์ที่หลากหลายต่อข้อเสนอให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านการป้องกันอาชญากรรม (Cornish & Clarke 2003 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

4) มีโครงการที่ได้รับการประเมินผลและตัวอย่างยุทธศาสตร์ประเภทต่างๆที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบทเรียนสำคัญสำหรับการนำโครงการป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ไปปฏิบัติ สรุปได้ดังนี้

  • แนวทางนี้จะได้ผลมากที่สุด หากพุ่งเป้าไปที่ปัญหาอาชญากรรมเฉพาะประเภทในบางบริบท
  • ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงและสาเหตุจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและแม่นยำ และมีนักวิเคราะห์ที่มีศักยภาพในการแปลผลข้อมูล
  • ต้องมีกลไกการให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสม เพื่อแสวงหาข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนในการพัฒนายุทธศาสตร์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมและความร่วมมือต่างๆ
  • ต้องมีทักษะการบริหารจัดการโครงการที่ดี มีแผนการนำไปปฏิบัติที่ครอบคลุมซึ่งระบุขั้นตอนสำคัญต่างๆ ในการดำเนินโครงการ และความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินการที่สอดคล้องกัน รวมถึงคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการติดตามดูแลการพัฒนาโครงการ การทบทวน และการนำโครงการไปปฏิบัติจริง (Marshall, Smith & Tilley, 2004 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

ที่ผ่านมา แนวทางการป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์ มีหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลในการลดอาชญากรรม ทั้งจากการประเมินผลในออสเตรเลียและต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการในการประเมินผลอยู่บ้าง (สถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) เช่น การประเมินผลโครงการลดเหตุการณ์ลักทรัพย์ในเขตที่อยู่อาศัยของสหราชอาณาจักร พบว่า พื้นที่บริเวณที่มีการลงทุนในงบประมาณจำนวนมากด้วยแนวทางการป้องกันตามสถานการณ์ มักมีความสำเร็จในการลดการลักทรัพย์ในพื้นที่อาศัย มากกว่าการป้องกันที่มุ่งเน้นไปที่ตัวผู้กระทำผิด (Hope et al. 2004 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) หรือ การศึกษาโครงการเมื่อไม่นานมานี้ สรุปว่า การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด มีประสิทธิผลมากที่สุดในการลดอาชญากรรมในที่จอดรถ หรืออาชญากรรมทางยานยนต์ (Wesh & Farrington 2001 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

นอกจากแนวทางการป้องกันอาชญากรรมตามสถานการณ์แล้ว “การป้องกันอาชญากรรมเชิงสภาพแวดล้อม” ยังหมายความรวมถึง การวางแผนและออกแบบเมือง เช่น การป้องกันอาชญากรรมโดยการออกแบบสภาพแวดล้อม หรือ CPTED (Crime Prevention through Environmental Design) และโครงการสร้างเมืองใหม่ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญากรรมโดยการออกแบบและบริหารจัดการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการจัดภูมิทัศน์ เพื่อความปลอดภัย (Crowe 1991; Schneider & Kitchen, 2007 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) ซึ่งรวมถึงยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างสถานที่ที่ปลอดภัย หรือสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย (เช่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีการติดตามสอดส่องผู้ใช้มากขึ้น หรือ โดยการออกแบบทางผ่านคนเดินถนนที่มีแสงไฟเพียงพอ และไม่ให้มีสถานที่ให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสแอบซ่อนตัว) CPTED มีอิทธิพลมากต่อนโยบายและการปฏิบัติงานป้องกันอาชญากรรมในออสเตรเลียและในส่วนอื่นๆ ในโลก ซึ่งปัจจุบัน มีรัฐบาลท้องถิ่น และมลรัฐมากมายที่มีนโยบายการวางแผนเฉพาะที่ที่รวมเอาหลักการ หรือแนวทาง CPTED เอาไว้ (Bodson et al. 2008 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) แม้ว่าการป้องกันอาชญากรรมรูปแบบนี้ ยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นระบบ (Shaftoe & Read, 2005 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) และอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง (Cozens, Saville & Hillier 2005 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) แต่ก็ถือว่ามีหลักฐานที่เพียงพอในการสนับสนุนการใช้หลักการ CPTED

  1. การป้องกันอาชญากรรมเชิงสังคม (Social approach) คือ การให้ความสำคัญกับสาเหตุ

การเกิดอาชญากรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในชุมชน เช่น สังคม การจำกัดการเข้าถึงที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษาและบริการทางการแพทย์ ฯลฯ รวมทั้งการจำกัดแรงจูงใจในการประกอบอาชญากรรมของผู้กระทำผิด และการป้องกันเชิงพัฒนาและรูปแบบการพัฒนาชุมชน (Crawford 1998; ECOSOC2002; Hope 1995; Hughes 2007; Sutton, Cherney & White 2008; Weatherburn 2004 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

วิธีการนี้ แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพ กลับมุ่งไปที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นพื้นฐานของอาชญากรรม โดยอาจรวมถึงการดำเนินการเพื่อปรับปรุงโครงการทางการศึกษา สุขภาพและที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับการสร้างปรับปรุงชุมชนให้ดีขึ้นจากการพัฒนาชุมชน

“การป้องกันอาชญากรรมเชิงพัฒนา” เป็นที่นิยมในออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น (Weatherburn, 2004 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) โดยมีสมมติฐานว่า การเข้าแทรกแซงหรือดำเนินการในระยะแรกของการอบรมเลี้ยงดูเด็กขณะที่มีอายุน้อยอยู่นั้น จะทำให้เกิดผลดีที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว อาจกล่าวได้ว่า จุดมุ่งเน้นของการป้องกันอาชญากรรมเชิงพัฒนาอยู่ที่การเข้าแทรกแซงในช่วงแรกของจุดเปลี่ยนผ่านของบุคคลที่นำไปสู่วิถีทางการป้องกันการกระทำผิดในอนาคต จุดเปลี่ยนผ่านสำคัญดังกล่าวหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่เริ่มรับการศึกษา การเปลี่ยนผ่านจากชั้นประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษา และจากมัธยมศึกษาไปยังการศึกษาต่อเนื่องหรือช่วงทำงาน ทั้งนี้ การดำเนินการในช่วงแรกมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัจจัยความเสี่ยงกระทำผิดในอนาคต  ซึ่งปัจจัยเชิงป้องกันและความเสี่ยงเหล่านี้ สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ เช่น ปัจจัยความเป็นเด็ก ปัจจัยครอบครัว บริบทโรงเรียน เหตุการณ์ในชีวิต ปัจจัยทางวัฒนธรรมและชุมชน (Homel et al. 1999)

โดยทั่วไป การดำเนินการด้านการพัฒนามีเป้าหมายเพื่อจัดการความเสี่ยงและระบุปัจจัยเชิงป้องกัน ซึ่งงานวิจัยได้ยืนยันว่า มีความสำคัญมากในการคาดการณ์การกระทำผิดในอนาคต หากพิจารณาในทางปฏิบัติ การป้องกันอาชญากรรมเชิงพัฒนาเกี่ยวข้องกับการจัดบริการพื้นฐาน หรือจัดทรัพยากรให้แก่บุคคล ครอบครัว โรงเรียน หรือชุมชน ในการลดผลกระทบของปัจจัยความเสี่ยงให้น้อยที่สุดต่อการพัฒนาพฤติกรรมกระทำผิด (Homel 2005) ด้วยเหตุนี้ ทรัพยากรและบริการต่างๆ ที่กล่าวถึง มักถูกส่งต่อไปให้แก่ครอบครัวกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มด้อยโอกาสที่มีบุตรวัยเด็ก อย่างไรก็ดี ผลสำเร็จของวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงพัฒนามีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ อาทิ

  • ความสำคัญของช่วงเวลาและการเข้าแทรกแซงจัดการในจุดเชื่อมต่อที่จำเป็น เช่น เวลาที่มีความเครียด หรือเมื่อบุคคลเปิดรับต่ออิทธิพลภายนอก (ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงระยะแรกในชีวิต)
  • ความจำเป็นที่อาจเปราะบางต่อความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ (เช่น ความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม) การเข้ามามีส่วนร่วมและการให้อำนาจแก่ชุมชน (ในการตัดสินใจ เช่น อาสาสมัคร และผู้มีวิชาชีพที่ได้รับค่าจ้าง) และการระบุถึงหน่วยงาน/บุคคลที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น
  • ความสำคัญของยุทธศาสตร์ในการทำให้โปรแกรมเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและหลีกเลี่ยงการตีตราบาปครอบครัวหรือบุคคลวัยเยาว์ที่มีความเสี่ยง
  • ความจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากผลดีของการป้องกันอาชญากรรมเชิงพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที (Crow et al. 2004;) อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017)

ผลการประเมินผลส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการนี้ก่อให้เกิดประสิทธิผลระยะยาว ช่วยลดอาชญากรรมจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงในมิติอื่นๆ เช่น ผลการศึกษา การทารุณต่อเด็ก การมีส่วนร่วมของแรงงาน พฤติกรรมเด็กและเยาวชน และการใช้สารเสพติด (Homel 2005) นอกเหนือจากประโยชน์ทางสังคมแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ยังเกี่ยวข้องอย่างมากกับการประหยัดทางการเงิน ของชุมชนและผู้ที่เข้าร่วม ลดค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางสวัสดิการ ความต้องการในการศึกษาพิเศษที่น้อยลง ค่าใช้จ่ายการปฏิบัติงานในระบบกระบวนการยุติธรรมและค่าใช้จ่ายต่อเหยื่อที่ลดลง (Homel et al. 2006;)

  1. การป้องกันอาชญากรรมเชิงกระบวนการยุติธรรม(Criminal Justice Approach) หมายถึง โปรแกรมต่างๆ ที่ดำเนินการโดยตำรวจ ศาลและราชทัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในกลุ่มผู้ที่เคยข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมอาชญากร และผู้ที่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว (ECOSOC 2002; UNODC 2010 อ้างถึงในสถาบันอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2017) `หากจะกล่าวโดยรวมวิธีการนี้ คือ แนวทางยุทธศาสตร์ดั้งเดิมที่มุ่งเน้นไปที่การป้องปราม (Deterrence) `การตัดโอกาสกระทำผิด(Incapacitation) และการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำผิด (Rehabilitation) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและองค์กรต่างๆ ในระบบกระบวนการยุติธรรม (Welsh and Farrington, 2012) เป็นที่น่าสังเกตว่า วิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงกระบวนการยุติธรรมนี้ แม้จะเป็นที่รับรู้ในวงกว้างถึงแนวทางหนึ่งในการลดอาชญากรรม แต่ในงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในรายละเอียดเชิงลึกมากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักวิชาการที่ศึกษาแนวคิดป้องกันอาชญากรรมต้องการมุ่งเน้นไปที่สาเหตุหรือแรงจูงใจที่นำสู่เหตุการณ์อาชญากรรม หรือวงจรการเกิดอาชญากรรม ที่อยู่นอกเหนือกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ทางเลือกใหม่ให้แก่รัฐบาลและภาครัฐในการลดอาชญากรรมในสังคม (Welsh and Farrington, 2012)

ระดับของการป้องกันอาชญากรรม

นอกเหนือจากความสนใจในเรื่องตัวแบบในการป้องกันอาชญากรรมแล้ว นักอาชญาวิทยายังให้ความสนใจในเรื่องของระดับในการป้องกันอาชญากรรมโดยมีการประยุกต์แนวคิดทางด้านสาธารณสุขและอาชญาวิทยามาใช้ที่ผ่านมามีผู้เสนอแนวคิดทฤษฎีในลักษณะดังกล่าวมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสำคัญ คือ Jeffery (1971) ที่เสนอแนวคิดแบ่งประเภทการป้องกันอาชญากรรมออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ปฐมภูมิ (Primary) ทุติยภูมิ (Secondary) และตติยภูมิ (Tertiary) กล่าวโดยสรุป ระดับปฐมภูมิ คือ การมุ่งเน้นไปที่การสร้างสิ่งกีดขวาง หรือ อุปสรรคต่อการประกอบอาชญากรรม ในขณะที่ ระดับทุติยภูมิ หมายถึง การให้ความสำคัญที่ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไป ตลอดจนการการควบคุมอาชญากรรม ในการตรวจจับ และการลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับระดับตติยภูมินั้น คือ การสนใจไปที่สาเหตุของพฤติกรรมอาชญากร และการบำบัดฟื้นฟู หรือแก้ไขผู้กระทำผิด

Jeffery (1971) พยายามอธิบายให้เข้าใจโดยง่าย ว่าตัวอย่างของการป้องกันอาชญากรรมปฐมภูมิ เปรียบได้กับสาขาทางการแพทย์ ที่มีการระบายน้ำออกเพื่อรักษาไข้เหลือง การให้วัคซีน                     เพื่อป้องกันโรคโปลิโอ และการใช้วิธีทางโภชนาการและออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหัวใจวาย ในขณะที่การป้องกันอาชญากรรมทุติยภูมิ จะรวมถึงการวินิจฉัยในระยะต้น และตรวจพบโรคหัวใจและมะเร็ง โดยมีมาตรการเพื่อควบคุมแพร่กระจายของโรคดังกล่าว สำหรับการป้องกันอาชญากรรมตติยภูมิ อธิบายได้ถึงการใส่หัวใจเทียมในผู้ป่วยซึ่งหัวใจแท้เดิมได้ถูกทำลายจากการขาดเลือด หรือการผ่าตัดครั้งใหญ่แก่ผู้ป่วยมะเร็งซึ่งเซลล์ร้ายนั้นได้แพร่กระจายไป

 

การป้องกันอาชญากรรม จึงเน้นการป้องกันในระยะเริ่มต้น คือ การป้องกันการกระทำนั้นๆ มีให้เกิดอาชญากรรมตั้งแต่แรก ไม่ได้สื่อถึงโปรแกรมการเบี่ยงเบนหันเห บ้านกึ่งวิถี หรือการระบุตัวเยาวชนหรือเด็กในช่วงแรกว่าจะมีพฤติการณ์กระทำผิด นอกจากนี้ ไม่ได้สื่อถึงการใช้การลาดตระเวนของตำรวจ หรือการลงโทษประหารชีวิตในลักษณะการป้องปรามด้วยเช่นกัน (Jeffery, 1971)

ในแนวคิดคล้ายๆ กัน Brantingham & Faust (1976) ได้อธิบายเกี่ยวกับรูปแบบแนวคิดการป้องกันอาชญากรรม 3 ระดับ ได้แก่ (1) การป้องกันปฐมภูมิ (primary prevention) ซึ่งมุ่งตรงไปที่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นต้นเหตุพฤติกรรมอาชญากรในสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมโดยทั่วไป (2) การป้องกันทุติยภูมิ (secondary prevention) หมายถึง การมุ่งเน้นไปที่การระบุและแทรกแซงระยะแรกในชีวิตของบุคคลหรือกลุ่มคนในสภาพที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมอาชญากร และ (3) การป้องกันตติยภูมิ (tertiary prevention) ที่พุ่งเป้าไปที่การป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งการใช้รูปแบบแนวคิดเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความชัดเจนต่อความพยายามในการป้องกันอาชญากรรม การเสนอแนะทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยในอนาคต

ในส่วนของ สถาบันวิจัยอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย (2003) มองว่า การป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิผล คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ส่งผลต่อการลดลงของอาชญากรรม โดยจำนวนของผู้กระทำผิด และเหยื่อ โดยจุดมุ่งเน้นอยู่ที่สาเหตุมากกว่าผลกระทบของอาชญากรรม และเป้าหมายคือ การลดหรือกำจัดปัจจัยที่นำสู่อาชญากรรม ทั้งนี้ การป้องกันอาชญากรรมสามารถอธิบายได้ในลักษณะของระดับหรือระยะ 3 ขั้น กล่าวคือ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยอาจกล่าวได้ว่า การป้องกันอาชญากรรมแบบปฐมภูมิ มุ่งความสนใจไปที่การหยุดปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการลดโอกาสสำหรับอาชญากรรม และการเสริมสร้างโครงสร้างทางสังคมและชุมชน ด้วยเหตุนี้ การป้องกันอาชญากรรมปฐมภูมิ ให้ความสำคัญไปที่ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก สำหรับการป้องกันอาชญากรรมทางสังคม เป็นการแก้ปัญหาที่ปัจจัยซึ่งมีอิทธิพลต่อการประกอบอาชญากรรม เช่น ความยากจน การว่างงาน การมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ และการมีระดับการศึกษาต่ำ ตัวอย่างของการป้องกันในลักษณะนี้ ได้แก่ โปรแกรมในโรงเรียนและชุมชน เช่น โครงการแก้ไขการหนีโรงเรียน และโครงการที่กลุ่มผู้พักอาศัยในท้องถิ่นทำกิจกรรมสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกร่วมกันในการเป็นเจ้าของและรักษาปกป้องชุมชน ฯลฯ ในขณะที่การป้องกันทางสภาพแวดล้อมภายนอก เป็นการแก้ไขปัญหาที่สภาพแวดล้อม เช่น การออกแบบอาคารและภูมิสถาปัตย์ (สถาบันวิจัยอาชญาวิทยาแห่งออสเตรเลีย, 2003)การป้องกันอาชญากรรมทุติยภูมิ เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานที่อยู่ของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่จะเป็นอาชญากรโดยอาชีพ ดังนั้น จุดมุ่งเน้นของระดับนี้จึงอยู่ที่การดำเนินโครงการ หรือการแทรกแซงในช่วงต้นที่มีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการสำหรับเยาวชนต่างๆ หรือ มุ่งเน้นที่ไปบริเวณละแวกบ้านที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ศูนย์การระงับข้อพิพาทในชุมชนใกล้บ้าน สำหรับการป้องกันอาชญากรรมตติยภูมิ จะเน้นไปที่การทำงานของกระบวนการยุติธรรมและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหลังจากที่อาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นแล้ว จุดมุ่งเน้นหลักคือโครงการที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้กระทำผิดในความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ตัวอย่างเช่น โครงการประชุมกลุ่มเยาวชนในชุมชน การตัดโอกาสกระทำผิดการฝึกอาชีพผู้กระทำผิดและโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟูแก้ไข

สำหรับ Mackey (2011) เสนอมุมมองว่า กระบวนการยุติธรรมได้มามุ่งเน้นไปที่ตัวแบบสาธารณสุข (public health model) หรือตัวแบบทางการแพทย์ (medical model) มากกว่าการพิจารณาประสิทธิภาพของตำรวจในการตอบสนองและรายงานอัตราการเกิดอาชญากรรม โดยหากจะอธิบายถึงรูปแบบทางการแพทย์ สามารถเทียบเคียงได้ถึงวิธีการป้องกันบุคคลจากการเจ็บป่วยกรณีโรคหัวใจวาย ในกรณีนี้ น่าจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่สังคมจะลดการตอบสนองต่ออันตรายจากหัวใจวาย โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีในห้องฉุกเฉินให้มีความก้าวหน้าเพียงอย่างเดียว ในการรับมือกับเหยื่อหัวใจวาย ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านั้นหากเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาหัวใจ เอาการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การเลิกสูบบุหรี่ก็จะลดความเสี่ยงจากหัวใจวาย  (Farrington, 2000 อ้างใน Mackey, 2011)

ในส่วนของรูปแบบสาธารณสุข เมื่อนำมาประยุกต์กับพฤติกรรมอาชญากร จะเป็นการเน้นไปที่วิธีการ 3 ส่วนซึ่งมีการประสานและเชื่อมโยงกันเพื่อลดทั้งเหตุการณ์และความรุนแรงของพฤติกรรมอาชญากร ประกอบด้วย การป้องกันปฐมภูมิ การป้องกันทุติยภูมิ และการป้องกันตติยภูมิ (Shader, 2003 อ้างใน Mackey, 2011) กล่าวคือ

การป้องกันปฐมภูมิ มักจะมุ่งเน้นไปที่ความพยายามเชิงป้องกันและเชิงรุกให้ดีก่อนเริ่มเกิดอาชญากรรม โดยเน้นไปที่เด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงจะกระทำผิดและะรวมถึงโปรแกรมก่อนคลอดบุตร โปรแกรมการเลี้ยงดูของบิดามารดา และโปรแกรมเด็กก่อนวัยเรียน ด้วยการป้องกันโอกาสที่เด็กจะกระทำผิด (Regoli, Hewitt, และ DeLisi, 2010 อ้างใน Mackey, 2011) อีกนับหนึ่งเป็นการให้ความสำคัญไปที่ในการปรับปรุงความเป็นอยู่ทางกายภาพที่ดีของมารดา ลดปัจจัยเชิงลบสำหรับทารกให้มากที่สุด เช่น น้ำหนักแรกคลอดที่ต่ำกว่าปกติ ความบกพร่องหรือพิการทางประสาทวิทยา และการสัมผัสกับพิษทางสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับการความบกพร่องทางการศึกษาและพัฒนาการ ฯลฯ ปัจจัยทางลบทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับความสำเร็จทางการศึกษาและอาจนำสู่ความเป็นไปได้มากที่จะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ

การป้องกันทุติยภูมิ มุ่งเน้นไปที่ปัจเจก “บุคคลและสถานที่” ที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบน (Regoli, Hewitt, และ DeLisi, 2010 อ้างใน Mackey, 2011) จุดสนใจของการป้องกันทุติยภูมิ คือ การลดระยะเวลา ความรุนแรง ของการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมเบี่ยงเบน ดังนั้น การป้องกันทุติยภูมิจะมีกลุ่มเป้าหมายที่แคบกว่าโปรแกรมการป้องกันปฐมภูมิ นั่นคือ “กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการประกอบอาชญากรรม” แต่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดที่เรื้อรังหรือรุนแรง Farrington (2000 อ้างใน Mackey 2011) ระบุปัจจัยความเสี่ยงการเป็นอาชญากร 9 ประการสำหรับเด็กอายุระหว่าง 8 ถึง 10 ขวบในการศึกษาที่แยกออกจากกัน โดยจัดทำขึ้นในลอนดอน และพิตต์สเบิร์ก 3 ทศวรรษต่างกัน ตัวแปร 9 ประการ คือ การชอบทำกิจกรรมมากเกินไป การมีสมาธิสั้น การมีความสำเร็จระดับต่ำ การมีบิดาที่ต่อต้านสังคม การมีขนาดครอบครัวใหญ่ การที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำ การมีครอบครัวแตกแยก การควบคุมดูแลจากบิดามารดาในระดับต่ำ และการแตกแยกของบิดามารดา เมื่อมีปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นต้องเช้าแทรกแซงป้องกัน

การป้องกันตติยภูมิ เป็นการแสวงหาการป้องกันอาชญากรรมและผู้กระทำผิดที่ได้ประกอบอาชญากรรมไปแล้วมีให้กระทำผิดขึ้นอีก โดยเน้นการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญของการป้องกันอาชญากรรมระดับตติยภูมิ และเป็นการแก้ไขที่ปัจจัยเสี่ยงและเชิงรุก เช่นเดียวกับการแยกบุคคลเหล่านั้นออกจากปัจจัยเสี่ยงโดยโปรแกรมต่างๆ อาทิ โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดและแอลกอฮอล์ อีกทั้งโปรแกรมทางการศึกษา เป็นต้น

สำหรับการแบ่งระดับของการป้องกันอาชญากรรมตามแนวทางของตัวแบบสาธารณสุข ที่ชัดเจนคืองานของสตีเวน แลบ (Steven Lab,2014) ที่เสนอรูปแบบของการป้องกันอาชญากรรมในแต่ละระดับดังนี้

การป้องกันปฐมภูมิ ครอบคลุมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การควบคุมการเข้าออกประตู ลูกกรงการเฝ้าระวังของคนในละแวกบ้านหรือชุมชนเดียวกันการสร้างความเกรงกลัวต่อคนทั่วไป จากการปราบปราม จับกุมการให้การศึกษาต่อสาธารณชน ในการป้องกันตนเองการป้องกันเด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและ การขจัดความยากจน จัดหางาน เป็นต้น

การป้องกันทุติยภูมิ ครอบคลุมถึงการระบุประชากรกลุ่มเลี่ยงเพื่อเข้าไปแทรกแซง การป้องกันตามสถานการณ์ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และป้องกันและขจัดการแพร่ระบาดยาเสพติด เป็นต้น

การป้องกันตติยภูมิ  การทำให้กลัวในระดับบุคคลต่อผู้คิดจะทำผิดการจำคุกผู้กระทำผิด และการอบรมแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดไม่ให้ทำผิดซ้ำ เป็นต้น

สรุป

การป้องกันอาชญากรรมมีความหมายและขอบเขตที่หลากหลายโดยอาจ หมายถึงการทำให้อาชญากรรมไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก หรืออาจหมายถึงการทำให้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่เกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นนักอาชญาวิทยาจึงได้จัดประเภทของการป้องกันอาชญากรรมออกเป็นตัวแบบต่างๆ โดยตัวแบบที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปคือตัวแบบที่มีแนวทางในการป้องกันอาชญากรรม 4 แนว คือ              (1) การป้องกันโดยอาศัยกฎหมายและการลงโทษ เพื่อข่มขู่ยับยั้งให้คนที่จะคิดทำผิดเกรงกลัวและคนที่ทำผิดแล้วไม่กล้าทำผิดขึ้นอีก เป็นการตัดมูลเหตุจูงใจโดยการทำให้กลัว (2) การป้องกันโดยการปรับสภาพแวดล้อมและขจัดปัจจัยที่นำไปสู่การกระทำผิด เช่น ขจัดความยากจน การขาดการศึกษา ควบคุมแหล่งอบายมุข พัฒนาอาชีพ ที่อยู่อาศัย เป็นการป้องกันโดยให้การพัฒนาเป็นแกนนำ (Development –led approach) นอกจากนี้ยังป้องกันโดยการแก้ไขพัฒนาคนที่ทำผิดแล้วให้กลับคืนสู่สังคม โดยกระทำผิดซ้ำขึ้นอีกเป็นการตัดข้อมูลเหตุจูงใจโดยการทำให้มีวินัยและไม่คิดที่จะทำผิด (3) การป้องกันโดยสภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยใช้การออกแบบและเทคโนโลยีในการขัดขวางการเกิดอาชญากรรมมิให้เกิดขึ้น เป็นการตัดช่องโอกาสในการทำผิดโดยใช้ เหล็กดัด ลูกกรง วงจรปิด ประตูไฟฟ้า สัญญาณเตือนภัย และการออกแบบเมือง ฯลฯ และ (4) การป้องกันโดยใช้สภาพแวดล้อมนามธรรมโดยการรวมตัวกันของคนในชุมชนในการเป็นหูเป็นตาตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด

การป้องกันทั้ง 4 แนวต้องทำไปด้วยกัน คือตัดมูลเหตุจูงใจและตัดช่องโอกาสในการกระทำผิด โดยแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมทั้ง 4 แนว สามารถอยู่ในระดับการป้องกันอาชญากรรมทั้ง 3 ระดับ กล่าวคือการป้องกันระดับปฐมภูมิเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมตั้งแต่แรกจะครอบคลุมถึงการป้องกันแนวที่ 1 ในการยับยั้งคนทั่วไป แนวที่ 2 ในส่วนของการพัฒนาเด็กและเยาวชนและขจัดปัจจัยที่นำไปสู่อาชญากรรมและแนวที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นการตัดของโอกาสมิให้มีการกระทำผิด ส่วนการป้องกันในระดับทุติยภูมิ จะครอบคลุมถึงการขจัดแหล่งอบายมุข แหล่งเสื่อมโทรม การจัดให้มี  งานทำ เป็นต้น และการป้องกันในระดับตติยภูมิ จะเกี่ยวข้องกับการป้องกันในแนวที่ 2 ในการแก้ไขอบรมผู้กระทำผิดมิให้กลับไปกระทำผิดขึ้นใหม่และแนวที่ 1 ในการลงโทษคนที่ทำผิดให้เข็ดหลาบ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแยกพิจารณาเป็นตัวแบบและระดับของการป้องกันอาชญากรรมแล้ว ความไม่ลงรอยในการจัดประเภทของการป้องกันอาชญากรรมก็ยังคงอยู่

 

บรรณานุกรม

 

นัทธี จิตสว่าง (2555) ความหมายและขอบเขตของการป้องกันอาชญากรรม สืบค้นจาก

https://www.gotoknow.org.posts.

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2526) การควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อม: หลักทฤษฎีและมาตรการ, กรุงเทพ:

โอเดียนสโตร์

Australian Institute of Criminology (2003). ICrime Reduction that matters. 20 May 2003.

https://aic.gov.au/publications/crm/crm001

Australian Institute of Criminology (2017) Crime Prevention Approaches: Theory and

Mechanisms. Retrieved from https://aic.gov.au/publications/rpp/rpp120/crime-       prevention-approaches-theory-and-mechanisms

Brantingham, P. J., & Faust, F. L. (1976). A Conceptual Model of Crime Prevention. Crime &

Delinquency, 22(3), 284–296. https://doi.org/10.1177/001112877602200302

Clarke, Ronald V. (2010) Situational Crime Prevention, Colorado: Lynne Reiner Publishers Inc.

Homel, R. et al. (1999) Pathways to Prevention: Developmental and Early Intervention Approaches to Crime in Australia. Commonwealth Attorney-General’s Department, Canberra. Retrieved from https://aic.gov.au.downloadpdf.

Homel, R. (2005). Developmental Crime Prevention. In Nick Tilley (Ed.), Handbook of Crime

Prevention and Community Safety (pp. 71-106). Cullumpton, Devon, UK: Willan Publishing.

Homel, R. (2006) The Pathways to Prevention Project: Doing Development Prevention in a

Disadvantaged Community. Retrieved from http://www.aic.gov.au/publications/tandi/tandi323

Felson, R. B. (2009). Violence, Crime, and Violent Crime. International Journal of Conflict and

Violence. Vol.3(1), pp/ 23 – 39. Retrieved from http://www.ijcv.org/index.php/ijcv/article/view/46

Freilich, J. D. and Newman, G. R. (2017). Situational Crime Prevention. Oxford Research

Encyclopedia of Criminology.

 

 

Jeffery, C. R. (1971) Crime Prevention through Environmental Design. Beverly Hills, CL: Sage

Mackey, D. A. (2011) Introduction to Crime Prevention, in Mackey, D. A and Levan, K.

(eds). Crime Prevention. Burlington, MA: Jones & Bartlett Publishers.

Office for National Statistics. (2018). The nature of violent crime in England and Wales: year

ending March 2017 [E-reader version]. Retrieved from

https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/crimeandjustice/articles/thenatureofviolentcrimeinenglandandwales/yearendingmarch2017

Welsh, B. C. and Farrington, D. P. (2012). Crime Prevention and Public Policy. The Oxford

 

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม