การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในคดีความมั่นคง

การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในคดีความมั่นคง

 นางสาวเอกกมล ลวดลาย

screen-shot-2559-12-16-at-12-05-48-pm

 

 

ปัจจุบันในหลายๆประเทศต่างกำลังประสบปัญหาเรื่องความแออัดของจำนวนผู้ต้องขังที่นับวันจะมีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการจัดการภายในเรือนจำของหลายๆประเทศโดยเฉพาะการจัดสวัสดิการและการดูแลเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังขณะอยู่ภายในเรือนจำ ซึ่งประชากรผู้ต้องขังโดยรวมแล้วจะเป็นผู้ชาย จึงทำให้หลายๆครั้งการปฏิบัติและการดูแลกลุ่มผู้ต้องขังหญิงนั้นกลับถูกละเลย แม้ว่าประชากรผู้ต้องขังหญิงจะเป็นกลุ่มประชากรผู้ต้องขังที่มีสัดส่วนนอยกว่าสัดส่วนประชากรผู้ต้องขังชาย แต่ผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ก็ยังจำเป็นที่จะต้องควรได้รับการดูแลและปฏิบัติไม่น้อยไปกว่าผู้ต้องขังชายตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ผู้ต้องขังหญิงควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ต้องขังชาย เฉพาะในด้านที่มีความแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ซึ่งปัจจุบันได้มีหลายฝ่ายให้ความสนใจและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติและคำนึงต่อกลุ่มผู้ต้องขังหญิงมากขึ้น ทั้งในด้านการดูแล แก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยเฉพาะด้าน การพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายหลังการพ้นโทษ รวมถึงผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดกับผู้ต้องขังหญิงที่มีการให้ความสนใจและดูแลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการดูแลกลุ่มผู้ต้องขังหญิงยังมีอีกหลายมิติที่จำเป็นอย่างยิ่ง และควรจะได้รับการดูแล โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ต้องขังหญิงเฉพาะบางกลุ่ม อย่างเช่น กลุ่มผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง แม้ว่ากลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่กระทำความผิดในคดีอื่นๆ โดยคดีที่กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด ซึ่งได้มีผู้ได้ทำการศึกษาในประเด็นเรื่องความเกี่ยวของผู้กระทำผิดหญิงที่เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง โดยผลงานการศึกษาที่น่าสนใจ อาทิเช่น ผลงานการศึกษาของ Nur Ifani Binte Saripi ที่ได้นำเสนออีกแง่มุมของการเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับขบวนการก่อการร้าย แม้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องที่ยังดูห่างไกลจากสังคมไทยก็ตาม  ที่สำคัญการศึกษาดังกล่าวยังเน้นการนำเสนอในมุมมองในมิติต่างๆพร้อมแง่คิดในการที่จะรับรู้และเข้าใจถึงสาเหตุใดผู้หญิงในหลายๆประเทศว่าเหตุใดถึงได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อไปร่วมตามอุดมการณ์ของขบวนการก่อการร้าย อีกทั้งยังมีการศึกษาและนำเสนอแนวทางในการแก้พัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้กระทำผิดหญิงกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการที่จะได้วางแนวทางหรือเตรียมความพร้อมในด้านการปฏิบัติและการดูแลกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เป็นกลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มเฉพาะเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

สำหรับในการศึกษาของ Nur Ifani Binte Saripi นั้น  ความน่าสนใจก็คือการได้เข้าไปร่วมศึกษาในกลุ่มของผู้หญิงที่ได้เข้าร่วมในขบวนการผู้ก่อการร้าย ที่มีชื่อว่า “รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย” (Islamic State of Iraq and Greater Syria : ISIS) หรือที่เรียกกันว่ากลุ่ม “ไอซิส” ซึ่งอาจจะรู้จักหรือคุ้นกับชื่อขบวนการดังกล่าว ซึ่งขบวนการดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวอยู่ในแถบประเทศอิรักและซีเรีย สำหรับจุดประสงค์หลักของขบวนการดังกล่าว เน้นถึงการสร้างขบวนการของบรรดาอาสาสมัครชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ของหลายชาติ  มารวมตัวเพื่อที่จะช่วยกันสร้างรัฐอิสลามสุหนี่ขึ้นตามแบบของของรัฐอิสลามของกาหลิบแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีบทบาทในการปกครองโลกอิสลามในช่วง พ.ศ.1204-1293 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งของอิสลาม

โดยรูปแบบของขบวนการดังกล่าวผู้เข้าร่วมขบวนการไม่เพียงแต่เป็นผู้ชายเท่านั้น แต่ยังมีการสนับสนุนผู้หญิงในการเข้าร่วมขบวนการดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมขบวนการที่เป็นหญิงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามขบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้เน้นสนับสนุนให้มีกองกำลังที่เป็นหญิง แต่ยังคงเน้นเป็นกองกำลังซึ่งเป็นผู้ชาย สำหรับการเข้าร่วมขบวนของกลุ่มผู้หญิงนั้นมีจุดประสงค์ เพื่อเป็นหน่วยสนับสนุนในการดำเนินการของขบวนการ โดยบทบาที่สำคัญของผู้หญิงที่เข้าร่วมในขบวนก่อการร้าย คือการเข้าไปมีส่วนช่วยกลุ่มนักรบมูจาฮิดีน ( Mujahidin) ซึ่งเป็นสามีของผู้หญิงเหล่านี้  ซึ่งกลุ่มผู้หญิงที่เข้าร่วมทำหน้าที่ ๒ บทบาทหลักด้วยกัน บทบาทแรก คือ การให้กลุ่มผู้หญิงที่เข้าร่วมช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติการทำหน้าที่เปรียบเสมือนตำรวจของขบวนการ ซึ่งต้องใช้ความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง และบทบาทสอง  คือบทบาทการลงโทษกับกลุ่มผู้หญิงที่ถูกจับตัวมาเพื่อที่จะลงโทษโดยการใช้วิธีตี

นอกจากนี้ผู้หญิงในขบวนการก่อการร้าย ไอซิส ยังมีบทบาทที่สำคัญ ในการเป็นสื่อและผู้คัดเลือก รวมถึงชักนำเสนอผ่านทางเครือเครือข่ายออนไลน์ ทั้งในรูปแบบ เฟซบุ๊ค ( Facebook) , ทวิตเตอร์  (Twitter) หรือ (TUMblr)  ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางและเกร็ดต่างๆในการเข้าร่วมขบวนการ ซึ่งเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ต่างๆดังกล่าว เปรียบเสมือนช่องทางของกลุ่มในการเผยแพร่และชักจูงผู้ติดตามเข้าร่วมในขบวนการและเป็นอีกช่องทางในการคัดเลือกกลุ่มผู้หญิงที่มีความสนใจเข้าร่วมขบวนการอีกด้วย

รวมถึงยังได้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความสำคัญกับการเข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดของผู้ต้องขังหญิงในคดีความมั่นคงถึงปัจจัยและแรงจูงใจอื่น อย่างเช่น การถูกกระตุ้นในด้านต่างๆที่ส่งผลที่ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนแนวคิดมาเข้าร่วมกับขบวนการ ที่สำคัญก็คือ การถูกละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้หญิงหลายๆคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการ อีกทั้งการเลือกปฏิบัติยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าขบวนการต่างๆ นอกจากนี้ ประเด็นด้านความไม่เท่าเทียมกันคือสิ่งสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ผู้กระทำผิดที่เป็นหญิงล้วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิดต่างๆ

การพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดหญิงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

            สำหรับในต่างประเทศแล้วการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังกลุ่มคดีความมั่นคงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในประเด็นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ และทัศนคติของแต่ละบุคคล ดังนั้นการพัฒนาพฤตินิสัยจึงจำเป็นต้องมีการเน้นและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนความคิดในการต่อต้านและเน้นการใช้ความรุนแรง พร้อมสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง  ในระดับนานาชาติยังได้มีการกำหนดการประชุมในประเด็นดังกล่าวเพื่อหาแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยเหลือและพัฒนาพฤตินิสัยแก้ไขให้แก่ผู้กระทำผิดที่เป็นหญิงในการเข้าไปร่วมกลุ่มในแนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้รู้และเข้าใจบริบทของการเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการดังกล่าว รวมถึงการเน้นให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆในการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ผ่านกระบวนการทางด้านการศึกษา กระบวนการศาสนา เป็นต้น

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีกลุ่มผู้กระทำผิดหญิงที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงจำนวนไม่มากนัก แต่จำนวนผู้กระทำผิดหญิงเหล่านี้ได้มีการเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานต่างๆจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้กับกลุ่มผู้กระทำผิดหญิงเหล่านี้ให้สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและสามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง  โดยในทางการศึกษาในต่างประเทศได้มีการส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพฤตินิสัยในกลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยมีการนำเสนอแนวทางในด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ที่ควรดำเนินการและมีแนวคิดในการพัฒนาพฤตินิสัยกลุ่มนี้ ในสามประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ประเด็นที่ ๑  การดำเนินการโดยกรมราชทัณฑ์ ในการจัดโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง

ในด้านการพัฒนาดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ในการจัดโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง โดยควรมีการจัดโปรแกรมโดยคำนึงถึง แนวความคิด ๗ หลัก ประกอบด้วย การศาสนา  การศึกษา การฝึกวิชาชีพ สังคมและครอบครัว  กีฬาและนันทนาการ ศิลปะเชิงสร้างสรรค์  การให้คำทางจิตวิทยา  แนวทางหลักเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้ต้องขังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ต้องขัง

ประเด็นที่ ๒ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานอื่นๆภายนอกในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาพฤตินิสัย

การให้ความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ภายนอก เช่น  NGOs ภาครัฐอื่นๆ  ภาคธุรกิจ  ที่เป็นกลุ่มสำคัญในการช่วยผลักดันในการพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้ต้องขัง ที่จะช่วยเติมเต็มในทัศนคติ และเพื่อการปรับตัวให้สามารถกลับไปอยู่ในสังคมโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ ๓ การมีโครงสร้างและสถานที่ที่เพียงพอต่อการพัฒนาพฤตินิสัยและจัดโปรแกรมต่างๆ

สุดท้ายด้านอาคารสถานที่เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะมีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาพฤตินิสัย โดยอาคารและสถานที่ที่เหมาะสมจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นและรองรับกิจกรรมต่างเพื่อการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังได้อย่างเหมาะ ซึ่งหากขาดสถานที่ที่เหมาะสม ก็จะทำให้การดำเนินการโปรแกรมต่างๆไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามที่โปรแกรมกำหนด

แม้ว่ากลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงจะมีจำนวนค่อนข้างน้อยกว่าทั้งในประเทศไทยหรือต่างประเทศ แต่การได้รู้ถึงแนวทางการปฏิบัติและการดูแลกลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการที่จะเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆในฐานะผู้สนับสนุน โดยคำนึงถึงธรรมชาติของหญิงที่มีจิตใจที่แตกต่างจากชายทั้งด้านความอ่อนโยนและความเป็นแม่ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเพศหญิง ดังนั้น การพัฒนาพฤตินิสัย และให้โอกาสผู้ต้องขังหญิงได้กลับคืนสู่สังคมอย่างสง่างาม จึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่เกี่ยวข้องคดีความมั่นคงเท่านั้น และรวมถึงกลุ่มผู้ต้องขังหญิงกลุ่มอื่นๆที่ควรจะต้องได้รับการเอาใจใส่และการคำนึงถึงในแนวการปฏิบัติที่เหมาะสมเป็นไปตามทั้งหลักด้านหลักทัณฑวิทยาและอาชญาวิทยา รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมที่ผู้ต้องขังเหล่านี้ควรได้รับ อีกทั้งยังเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายในระดับต่างๆได้เห็นถึงความสำคัญต่อกระบวนการการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังหญิงของประเทศไทยต่อไป

 

เขียนโดย  นางสาวเอกกมล ลวดลาย

 

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม