มาตราการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กำระทำผิดเพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

มาตราการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กำระทำผิดเพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

 

นายนัทธี จิตสว่าง

ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำหรือปัญหาความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นปัญหาของการบริหารราชทัณฑ์ไทยมาโดยตลอด จากสถิติผู้ต้องขังในเรือนจำในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ในบางปีจะมีการลดลงของจำนวนผู้ต้องขังบ้าง เนื่องจากมีการพระราชทานอภัยโทษ และบางช่วงจะมีจำนวนผู้ต้องขังลดลงอย่างมาก เช่นในช่วงปี พ.ศ.2545 – 2547 ก็เนื่องมาจากการออกพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จัดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยไม่ต้องส่งตัวเข้าจำคุกในเรือนจำ แต่การลดลงดังกล่าวก็เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นจำนวนผู้ต้องขังก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอดปรากฎตามรูปที่ 1

รูปที่ 1

 

ระยะหลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนผู้ต้องขังในเดือนธันวาคม พ.ศ.2557 มีอยู่ 325,129 คน แต่ความจุปกติของเรือนจำที่จะรองรับมีได้เพียง 180,000 คน เท่านั้น เท่ากับผู้ต้องขังเกินความจุของเรือนจำที่รองรับได้อยู่ถึง 140,000 กว่าคน และหากพิจารณาถึงสถิติผู้ต้องขังในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาก็จะพบว่าจำนวนผู้ต้องขังเกิดความจุปกติ ที่เรือนจำจะรองรับได้ในทุกปี ทั้งนี้จำนวนผู้ต้องขังได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ 2,300 คน หรือปีละ 27,600คน ดังนั้น หากจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวโดยไม่มีมาตราการใดๆ มาสกัดกันแล้ว จำวนผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 คน ภายในปี พ.ศ.2561 ซึ่งเกิณความจุปกติที่เรือนจำจะรองรับได้ถึงเกือบ 2 เท่ากว่า

สภาพความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำหรือที่เรียกว่าสภาวะของผู้ต้องขังล้นเรือนจำ นั้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในทางลบเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อการบริหารจัดการเรือนจำอีกด้วย เพราะทำให้การจัดการสวัสดิการ การอบรม และการดูแลผู้ต้องขังในด้านต่างๆ ทำได้ด้วยความยากลำบาก สภาพความแออัดทำให้ผู้ต้องขังมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแออัด ผู้ต้องขังจำนวนมากต้องว่างงานเนื่องจากไม่มีสถานที่เพียงพอและไม่มีงานเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ต้องขัง ทำให้ผู้ต้องขังอยู่ว่างๆ คิดฟุ้งซ่านและหันไปมีพฤติกรรมละเมิดกฎระเบียบของเรือนจำที่สำคัญปัญหาความแออัดยัดเยียด ของผู้ต้องขังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการอบรมแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมโดยไม่กลับไปกระทำผิดได้อีก เพราะการจัดโปรแกรมการแก้ไข พัฒนาผู้ต้องขังจะกระทำได้ด้วยความยากลำบากเนื่องจากสถานที่จำกัดและเจ้าหน้าที่เรือนจำจะใช้เวลาหมดไปกับการดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องขัง ปัญหาของสภาพดังกล่าวนี้ได้เพิ่มทวีขึ้นเมื่ออัตรากำลังของเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขังจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ยังคงเดิม            ทำให้อัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังของประเทศไทยห่างไกลจากมาตรฐานมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ จะมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังประมาณ 1 ต่อ 3 ถึง 1 ต่อ 6 และมาตราฐานสหประชาชาติคือ 1 ต่อ 5 ประเทศไทยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1 ต่อ 28 คือมีเจ้าหน้าที่ 11,000 คน แต่ผู้ต้องขัง 325,129 คน ที่สำคัญในการปฏิบัติงานภายในแดนเรือนจำจริงๆ จะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่น้อยลงไปอีกเพราะเจ้าหน้าที่อีกส่วนต้องปฏิบัติหน้าที่ภายนอกแดน หรืองานบริหารบนที่ทำการในขณะที่ในแดนหนึ่งๆ อาจมีผู้ต้องขังถึง 1,000 คนแต่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียง 12 คน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง และไม่สามารถที่จะควบคุมรักษาวินัยผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลับตกเป็นเบี้ยล่างผู้ต้องขังซึ่งได้รับการคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นโดยอาศัยการร้องเรียนประเด็นเรื่อง สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรือนจำขณะนี้จึงเป็นผลมาจากความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำหรือสภาวะนักโทษล้นคุกเป็นสำคัญ

ความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นผลมาจากที่ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กคดีใหญ่ คดีที่ถูกคุมขังไว้ระหว่างพิจารณาคดี จะถูกส่งเข้าเรือนจำเป็นส่วนใหญ่ เป็นผลให้ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าประเทศอื่นๆ มากโดยเป็นอันดับ 10       ของโลกและอันดับ 2 ในเอเชีย (3)สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามว่า ขณะที่เราใช้โทษจำคุกเป็นเสมือนยาครอบจักรวาล ที่ใช้รักษาโรคต่างๆ สารพัดโรคเหมือนกันหมดหรือใหม่ ถ้าหากว่าการใช้โทษจำคุกเป็นยาครอบจักรวาลเหมาะสำหรับผู้กระทำผิดทุกประเภทจริง และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยจัดการกับปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้จริงแล้วผู้ต้องขังจะล้นคุกจะแออัดยัดเยียดกันเท่าใด ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำและควรจะไปหางบประมาณมาสร้างขยายเรือนจำให้เพิ่มมากขึ้น สังคมได้ปลอดภัยจากอาชญากรรมมากขึ้น        แต่ตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โทษจำคุกไม่ได้เหมาะกับผู้กระทำผิดทุกประเภทในทางตรงกันข้ามเรือนจำควรเป็นสถานที่ควบคุมผู้ร้ายสำคัญที่เป็นอันตรายต่อสังคมและต้องควบคุมตัวเพื่อมีให้ออกไปก่อความเดือดร้อนต่อสังคมภายนอกแต่เรือนจำไม่เหมาะสำหรับผู้กระทำผิดในคดีไม่ร้ายแรงหรือกระทำโดยพลั้งพลาด ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้ายหรือผู้ติดยาเสพติด บุคคลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตราการจำคุกเพราะการนำบุคคลเหล่านี้มาขังไว้ในเรือนจำจะทำให้เกิดการเรียนรู้ถ่ายทอดพฤติกรรมอาชญากร เกิดความเคยชินต่อคุกตารางและไม่เกรงกลัวคุกตารางต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้มีชนักติดหลังถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตารางที่สังคมไม่ยอมรับ ทำให้ยากต่อการกลับไปเป็นพลเมืองดี การเอาคนเหล่านี้เข้าไว้ในเรือนจำจึงเท่ากับเป็นการสร้างอาชญากรรมขึ้นมาใหม่ ในทางตรงกันข้ามผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดควรส่งไปบำบัดรักษาส่วนผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อย ทำผิดครั้งแรกหรือผู้กระทำผิดในคดีไม่ร้ายแรง ทำผิดโดยพลั้งพลาดควรใช้วิธีการปฏิบัติที่เป็นทางเลือกอื่นๆ แทนโทษจำคุก ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี

มาตราการในการลดความแออัดยัดเยียดในเรือนจำโดยการหันไปใช้มาตราการการทางเลือกแทนการให้โทษจำคุกในเรือนจำครอบคลุมตั้งแต่การเบี่ยงเบนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงการใช้มาตราการทางเลือกในการลดโทษหรือการลดโทษหรือจำคุก มาตราการดังกล่าวได้มีการนำเสนอต่อสาธารณชนอยู่เป็นครั้งคราวได้แก่ (4)

1. การกำหนดให้ความผิดทางอาญาบางประเภทเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์บางประเภท

2. การยกเลิกการให้โทษทางอาญาสำหรับความผิดอาญาบางประเภทที่มีฐานความผิดทางแพ่ง โดยกำหนดให้ใช้โทษอย่างอื่นแทนโทษทางอาญา เช่น กรณีความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็คอาจใช้การห้ามใช้เช็คอีกต่อไป หรือมาตราการอื่น ๆ

3. สนับสนุนให้มีมาตราการชะลอการฟ้องสำหรับคดีบางประเภทในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการเพื่อเบี่ยงเบนคดีไม่ต้องเข้าสู่ศาลโดยมีเงื่อนไขการคุมความประพฤติหากผิดเงื่อนไขหรือการกระทำผิดขึ้นอีกก็จะถูกฟ้องดำเนินคดีต่อไป

4. สนับสนุนให้มีการใช้มาตราการคุมประพฤติสำหรับผู้กระทำผิดทางอาญาให้มากขึ้นด้วยโดยการขยายกฎเกณฑ์และเงื่อนไข แต่ให้สังคมมีความมั่นใจในการระบบคุมประพฤติ จึงควรนำการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ EM มาใช้ประกอบการคุมประพฤติให้มากขึ้นเพื่อสามารถรองรับการทำงานคุมประพฤติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐได้มากกว่าการควบคุมดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ

5. ควรมีการสนับสนุนให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดีที่ฝากขังในเรือนจำลดย้อยลง ทั้งนี้อาจกำหนดให้มีการใช้ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) ประกอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมและความมั่นใจในการป้องกันการหลบหนี

6. เร่งรัดให้มีการประกาศกระทรวงยุติธรรมในการกำหนดสถานที่ขังตามกฎกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องกำหนดให้มีการกำหนดสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือ ผู้ต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ.2552 โดยเร็ว ซึ่งหากกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดสถานที่ขังตามกฎกระทรวงนี้แล้ว ศาลมีคำสั่งให้จำเลยอยู่ในความควบคุมในสถานที่อื่นอันควรนอกจากเรื่องเรือนจำหรือสถานที่อื่นที่กำหนดในหมายจำคุกก็ได้ โดยเป็นตามมาตรา 89 วรรคหนึ่ง และสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องจัดให้มีวิธีการควบคุมและมีมาตราการป้องกันการหลบหนีโดยอาจนำเครื่องมือ Electronic Monitoring มาใช้ประกอบด้วย

ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นมาตรการในการเลียงใช้นักโทษจำคุกก่อนที่ผู้กระทำผิดจะถูกส่งเข้าเรือนจำ เป็นมาตรการก่อนเข้าเรียกว่า (Front – end Mechanism) เป็นมาตรการที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางมาตรการจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการที่ค่อนข้างยากที่จะขับเคลื่อนให้บังเกิดผล สำหรับมาตราการให้จำเลยถูกควบคุมตัวในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำตามมาตราการ 89 วรรคสอง แห่งประมวล กฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญานั้นก็เป็นมาตราการที่มีปัญหาทางปฏิบัติและซับซ้อนกับการพักการลงโทษ เพราะจำเลยจะต้องรับโทษจำคุกมาอย่างน้อย 1 ใน 3 ในขณะที่มาตราการขยายใช้มาตราการคุมประพฤติให้เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มมาตราการการปล่อยตัวชั่วคราวให้มากขึ้น ก็เป็นปัญหาทางปฏิบัติ  เพราะผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ที่เข้ามาสู่ระบบเรือนจำเป็นคดียาเสพติดซึ่งไม่ได้เป็นคดีเสพ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย การใช้มาตรการปล่อยตัวชั่วคราว ในระหว่างการพิจารณาคดี หรือใช้มาตราการการรอลงโทษอาญาโดยมีการคุมประพฤติกับผู้กระทำผิดเหล่านี้ จึงเท่ากับเป็นทางกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมหรือเครือข่ายเดิม หรือปัญหาสภาพสังคมเดิม อันจะทำให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้กลับเข้าสู่วงจรค้ายาเสพติดเช่นเดิม และกลับเข้ามาสู่ระบบยุติธรรมใหม่อีก ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมใช้โทษจำคุก และต้องการเห็นคนที่กระทำผิดได้รับโทษจำคุกเสมอกัน สังคมไม่ยอมรับถ้ามีผู้กระทำผิดบางคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการคุมประพฤติโดยไม่ต้องถูกจำคุกในเรือนจำ และมีข้อสงสัยหรือคำถามถึงการใช้มาตรการดังกล่าว อันเป็นผลให้การนำมาตราการดังกล่าวมาใช้ดำเนินการได้อย่างมีข้อจำกัด

อย่างไรก็ตามมาตราการที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยฝ่ายราชทัณฑ์สามารถดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เป็นมาตราการหลังการจำคุก (Back – end Mechanism) คือการพักการลงโทษ (Parole) กรณีพิเศษซึ่งเป็นมาตราการที่ให้นักโทษที่มีความประพฤติดี ที่ได้รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ได้รับการปลดปล่อยไปรับการคุมประพฤติในชุมชนแทนการจำคุกในเรือนจำจนกว่าจะพ้นโทษตามคำพิพากษา โดยมีข้อแม้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดและผ่านการอบรมเข้มจากโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เพื่ออบรมผู้ต้องขังที่มีความประพฤติที่ดี และทำผิดในคดีเล็กน้อยได้รับการอบรมเข้ม เป็นระยะเวลา       3 – 4 เดือน ก่อนปล่อยพักการลงโทษเพื่อไปรับการคุมประพฤติและรับทางเลือกในชีวิตแนวทางใหม่ในชุมชนวิธีนี้น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าการปล่อยผู้ต้องขังกลับสู่สังคม เมื่อครบกำหนดโทษโดยไม่มีการอบรมหรือเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและไม่มีการควบคุมดูแลหลังปล่อย

รูปที่ 2  มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก

 

ดังนั้นหากมีการจัดการอบรมในศูนย์ฝึกโรงเรียนวิวัฒพลเมืองราชทัณฑ์ในภูมิภาคต่างๆ ให้ได้ 10 ศูนย์ อบรมรุ่นละ 300 คน ปีละ 3 รุ่น ก็มีผู้ผ่านการอบรมและปล่ออยคุมประพฤติ ปีละ 9,000คน ผนวกกับการปล่อยคุมประพฤติกรณีอื่น ๆ เช่น คนชรา หรือผู้ป่วยระยะ 3  รวมทั้งกรณีพักโทษตามปกติ รวมกับการปล่อยลดวันต้องโทษ และมาตราการก่อนเข้าเรือนจำ (Front – end Mechanism) ทั้งหลาย ก็น่าจะสามารถชะลอเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขัง รวมถึงอาจลดจำนวนผู้ต้องขังลงได้ทุกปี

การหันมาใช้มาตรการทางเลือกหลังการจองจำ (Back – end Mechanism) แบบเข้มนี้นับเป็นมาตรการที่จำเป็นในการแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำและเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่ไม่อาจใช้มาตรการทางเลือกก่อนจองจำว่า (Front – end Mechanism) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุที่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดและสังคมไทยยังนิยมใช้โทษจำคุกตลอดจนกฎหมายยังไม่เปิดช่อง ดังนั้นมาตรการทางเลือกหลังจองจำจึงเป็นมาตรการเสริมที่เข้ามาช่วยกรองคนออกจากระบบเรือนจำในขณะที่มาตรการทางเลือกก่อนถูกจองจำยังไม่อยู่ในระหว่างการดำเนินการให้สามารถใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ

มาตรการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งมาตรการก่อนเข้าเรือนจำ (Front – end Mechanism) และหลังเข้าเรือนจำ (Back – end Mechanism) เป็นมาตรการในการกรองผู้ต้องขังในคดีที่ทำผิดไม่ร้ายแรงหรือไม่พฤติกรรมอาชญากรออกจากระบบเรือนจำ เพื่อให้เป็นเรือนจำเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือผู้ต้องขังรายสำคัญ เมื่อใช้เรือนจำเป็นที่คุมขังเฉพาะผู้ต้องขังที่เป็นรายสำคัญ เรือนจำก็ไม่แออัดยัดเยียดและสามารถปฏิบัติต่อผู้ต้องขังและให้การดูแลอบรมแก้ไขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสามารถจะจำแนกลักษณะหาสาเหตุการกระทำความบกพร่องทางจิตใจหรือทางสังคม เพื่อวางแนวทางปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล รวมทั้งการควบคุมตัวผู้ร้ายสำคัญหรือผู้ร้ายที่เป็นอันตรายต่อสังคมไว้นานๆ โดยไม่ลดโทษ แต่หากเรือนจำมีความแออัดยัดเยียดปะปนกันของผู้ต้องขังประเภทต่างๆ ทั้งผู้ต้องขังที่ทำโดยพลั้งพลาดและผู้ต้องขังที่กระทำผิดร้ายแรงหรือมีลักษณะร้าย การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านี้นอกจากเกิดความยากลำบาก ดูแลไม่ทั่วถึงยังทำให้มีการปฏิบัติต่อคนที่มีลักษณะร้ายด้วยโทษเบาเกินไป และปฏิบัติต่อคนพลั้งพลาดหนักเกิณไป

การจะสร้างเรือนจำประเภทต่างๆ ขึ้นมารองรับจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นนับเป็นการแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเพราะตราบใดที่สังคมไม่มีมาตรการลงโทษที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ในแบบก้าวหน้าแทนโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดบางประเภทแล้ว จะสร้างเรือนจำอีกเท่าไรก็ไม่พอ

โทษจำคุก “ไม่ใช่เป้าหมาย” ของการลงโทษและไม่ยาครอบจักวาลสำหรับผู้กระทำผิดทุกประเภท หากเป็น “วิธีการ” อย่างหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ซึ่งยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธีตามลักษณะความหนักเบาของคดีและลักษณะของผู้กระทำผิด

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าถึงเวลาหรือยังที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ แทนการใช้โทษจำคุกสำหรับผู้กระทำผิดบางประเภท ถึงเวลาหรือยังที่จะเลิกนิยมใช้โทษจำคุกเพราะหากขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม คือ การบังคับโทษไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษได้แล้วก็นับเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบเช่นกัน

 

อ้างอิง

 

  1. Nathee  Chitsawang ,Prison Statistics, 1934 – 2015 สืบค้นจาก                          www.Thaicorrection.com วันที่ 22 มกราคม 2558
  2. แบบรายงานสถิติ 102 , กรมราชทัณฑ์ ประจำเดือนมกราคม 2558
  3. International Centre of Prison Studies สืบค้นจาก www.Prisonstudies.org เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558
  4. ข้อเสนอคณะกรรมการอิสระ ว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำและมาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษจำคุก , พ.ศ.2556

 

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม