อาชญาวิทยาในประเทศไทย

อาชญาวิทยาในประเทศไทย

นัทธี จิตสว่าง

     การศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรมและการลงโทษผู้กระทำผิดในประเทศไทยได้มีมานาน แต่การศึกษาอย่างเป็นระบบภายใต้ชื่อวิชาที่เรียกว่า “อาชญาวิทยา” นั้น เพิ่งจะมีมาเมื่อประมาณ 80 ปี ที่ผ่านมา โดยมีนักกฎหมายชาวต่างประเทศและนักกฎหมายไทยที่สำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่และบรรยายในมหาวิทยาลัยของไทยรวมทั้งได้แต่งคำสอนชั้นปริญญาโทเป็นตำรา “อาชญาวิทยา” ขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากนั้นอาชญาวิทยาในประเทศไทยจึงพัฒนาขึ้นในหลายมิติและมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาจแยกพิจารณาได้ในมิติต่างๆ 3 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอนด้านการสร้างองค์ความรู้และทฤษฎี ด้านเนื้อหาและการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาอาชญาวิทยา

การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในประเทศไทย

อาชญาวิทยา ที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบนั้น เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2477 -2478 โดยศาสตราจารย์ ดร.เอช เอกูต์ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศล และหลวงสกล สัตยากร (สง่า ลี้ตระกูล) ที่ได้เข้ามาเป็นผู้บรรยายในแผนกนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองและต่อมาได้แต่งตำราอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาขึ้นทั้งสองท่าน โดยมีดร.บรรยง มกราภิรมย์ ผู้ร่างพรบ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 เป็นผู้นำแนวคิดทางด้านทัณฑวิทยามาเผยแพร่ในกรมราชทัณฑ์อีกทางหนึ่ง และนับเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญาวิทยาในประเทศไทย แต่โดยเหตุที่อาชญาวิทยาในประเทศไทยเริ่มต้นที่แผนกนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง อาชญาวิทยาจึงได้เริ่มต้นฝังรากลึกลงอย่างแนบแน่นกับวิชานิติศาสตร์ การศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศไทยจึงผูกพันกับวิชานิติศาสตร์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันจนได้กล่าวว่าอาชญาวิทยาจะเป็นวิชาที่เปิดสอนเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนิติศาสตร์ของแทบทุกมหาวิทยาลัยโดยในระดับปริญญาตรีจะมีวิชาอาชญาวิทยาเปิดสอนเป็นวิชาบังคับ หรือวิชาเลือกส่วนระดับปริญญาโท จะปรากฏอยู่ใน สาขา กฎหมายอาญาและบริหารงานยุติธรรมของหลักสูตรปริญญาโททางนิติศาสตร์ ในหลายมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามแม้อาชญาวิทยาในประเทศไทย จะเริ่มต้น และเจริญเติบโตรุ่งเรืองที่คณะนิติศาสตร์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันแต่อีกด้านหนึ่งอาชญาวิทยาก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นที่ภาควิชาสังคมวิทยา ของคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เสริน ปุณณะหิตานนท์ที่สำเร็จการศึกษาด้านสังคมวิทยาเน้นอาชญาวิทยามาจากสหรัฐกลับมาเปิดการเรียนการสอนอาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยาที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแห่งแรกก่อนที่อาชญาวิทยาแนวสังคมวิทยาจะแพร่หลายไปยังภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหรือในคณะสังคมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในเวลาต่อมาแต่การเจริญเติบโตของอาชญาวิทยาในคณะสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะในภาควิชาสังคมวิทยาไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับ ความสำเร็จของอาชญาวิทยาในคณะนิติศาสตร์เพราะหลังจากปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยอาศัยแนวคิดและอิทธิพลจากอาชญาวิทยาในประเทศตะวันตก อาชญาวิทยาในประเทศไทยก็เริ่มประกาศตัวเป็นอิสระจากสังคมวิทยาและนิติศาสตร์โดยเปิดการเรียนการสอนในแนวสหวิทยาการแตกต่างจากแนวสังคมวิทยาและนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีโทและเอกในเวลาต่อมา แม้จะยังสังกัดอยู่ในคณะสังคมศาสตร์หรือแม้แต่คณะรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ก็ตาม

ทั้งนี้โดยในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอาชญาวิทยาเป็นสหวิชาการที่อาศัยศาสตร์จากหลายสาขามาอธิบายปรากฏการณ์ทางอาชญากรรมและพฤติกรรมของอาชญากรในขณะเดียวกันอาชญาวิทยาก็จะมีลักษณะเป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ที่มิได้มุ่งสร้างทฤษฎีแต่เพียงประการเดียวหากมุ่งแต่นำไปประยุกต์ใช้นอกจากนี้ยังมีลักษณะกึ่งวิชาชีพคือเรียนไปเพื่อนำไปประกอบอาชีพในสายงานหากแต่ไม่ใช่วิชาชีพอย่างแท้จริงที่ผู้ไม่ได้ศึกษามาจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้เนื่องจากความรู้อาชญาวิทยาสามารถนำไปประยุกต์ในการทำงานได้ ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นเพียงกึ่งวิชาชีพ

ในปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนอาชญาวิทยาที่แป็นสหวิทยาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท จนถึงปริญญาเอกโดยถึงแม้ว่าอาชญาวิทยาจะไม่มีคณะของตนเอง แต่ก็มีการเรียนการสอนที่กระจัดกระจายอยู่ในภาควิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หรือในคณะสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (สามพราน) มหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น ในส่วนของสายกฎหมายอาชญาวิทยามีการเรียนการสอนในสาขาวิชากฎหมายอาญาและงานยุติธรรมของคณะนิติศาสตร์หรือบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เกือบทุกมหาวิทยาลัย

สำหรับโครงการปริญญาโทและเอกด้านอาชญาวิทยาของภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น นับเป็นโครงการที่ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอาชญาวิทยารูปแบบใหม่โดยเปิดสาขาอาชญาวิทยาระหว่างประเทศและอาชญาวิทยาธุรกิจเพิ่มเติมจากอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรมจึงทำให้หลักสูตรของที่นี้มีความทันสมัยและพร้อมที่จะรองรับการเป็นหลักสูตรนานาชาติด้านอาชญาวิทยาระหว่างประเทศและอาชญาวิทยาธุรกิจของเอเชียในโอกาสต่อไป

การสร้างองค์ความรู้และทฤษฎีอาชญาวิทยา

จุดสนใจของการศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของทฤษฎีอาชญาวิทยาแต่การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่มีทฤษฎีอาชญาวิทยาของตนเองแนวคิดทฤษฎีที่ศึกษากันอยู่เป็นทฤษฎีที่นำเข้ามาจากประเทศตะวันตกทั้งสิ้นแม้ในระยะแรกเริ่มจะมาจากประเทศฝรั่งเศสหรือแนวคิดแบบยุโรปแต่ต่อมาจนถึงปัจจุบันทฤษฎีอาชญาวิทยาส่วนใหญ่จะมาจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาทั้งนี้เพราะนักอาชญาวิทยาของไทยได้ไปศึกษาวิชาอาชญาวิทยามาจากประเทศทั้งสองเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมในระดับปริญญาเอกมามากว่า 15 ราย ปริญญาโทอีกจำนวนมากซึ่งท่านเหล่านี้ได้มาปูรากฐานด้านอาชญาวิทยาในเมืองไทยไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนตำราอาชญาวิทยาและผลิตงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักอาชญาวิทยาที่อยู่ในวงการการศึกษาด้านอาชญาวิทยาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยซึ่งจุดนี้เองทำให้การพัฒนาองค์ความรู้และทฤษฎีด้านอาชญาวิทยาที่คำนึงถึงบริบทของสังคมไทยหรือเอเชียเริ่มปรากฏชัดขึ้น โดยเฉพาะจากการที่มีงานวิจัยด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมที่พัฒนาขึ้นมาจากข้อเท็จจริงในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่การสร้างทฤษฎีหรือองค์ความรู้ของไทยขึ้นมาเองนั้นทำได้ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้เพราะปัจจัย 2 ประการ กล่าวคือ

1. องค์ความรู้และงานวิจัยทางอาชญาวิทยาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเน้นการวิจัยเชิงปทัสถาน (Normative Research) มากกว่าการวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งสะสมองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่สามารถทดสอบและพิสูจน์ได้ ส่วนการวิจัยเชิงปทัสถานเน้นการอธิบาย พรรณาเชิงปรัชญาและค่านิยมโดยมุ่งสร้างองค์ความรู้ในเชิงปฏิบัติมากกว่าที่จะมุ่งสร้างทฤษฎีหรือสะสมความรู้ตามแบบวิทยาศาสตร์ การที่นักวิจัยด้านอาชญาวิทยามุ่งที่จะวิจัยเชิงปทัสถานก็เพื่อตอบสนองแหล่งผู้ให้ทุนการวิจัยที่มักจะเป็นหน่วยงานทางปฏิบัติ ซึ่งต้องการงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ประเมินนโยบาย หรือแก้ปัญหาในทางปฏิบัติได้ ในขณะที่แหล่งทุนงานวิจัยที่มุ่งสร้างทฤษฎีหรือพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยเหตุนี้การพัฒนาองค์ความรู้หรือสร้างทฤษฎีอาชญาวิทยาของไทยขึ้นมาเองจึงเกิดขึ้นได้ยาก

2. ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนในเชิงลึก โดยใช้เทคนิคกรณีศึกษาเดลฟาย กลุ่มสนทนาสัมภาษณ์เจาะลึก หรือเทคนิคในเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่มุ่งพรรณา อธิบายปรากฏการณ์ในทางปฏิบัติมากกว่าจะใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณที่จะมุ่งทดสอบข้อมูลเชิงทฤษฎี และอ้างถึงประชากรกลุ่มใหญ่อันจะเป็นการนำไปสู่การทดสอบทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักวิจัยทางอาชญาวิทยาในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ถนัดการวิจัยเชิงปริมาณที่มีการใช้สถิติ หรือวิจัยเชิงปริมาณขั้นสูงที่จะนำไปสู่การสร้างหรือทดสอบทฤษฎีเชิงประจักษ์ได้

ด้วยเหตุนี้การที่อาชญาวิทยาในประเทศไทยยังไม่มีทฤษฎีของตนเองนั้น ก็เนื่องมาจากที่ต้องอาศัยการหยิบยืมทฤษฎีมาจากตะวันตกเป็นหลักจนไม่คิดพัฒนาทฤษฎีของตนเอง ในขณะเดียวกันการเรียนการสอนอาชญาวิทยาในเมืองไทยเน้นที่การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติมากกว่าการสร้างทฤษฎีหรือองค์ความรู้ โดยการเรียนการสอนทางด้านนโยบายหรือการบริหารงานยุติธรรมจะได้รับการเน้นย้ำมากกว่าทฤษฎีอาชญาวิทยา ในขณะที่การวิจัยด้านอาชญาวิทยาก็เน้นการวิจัยประยุกต์มากกว่าการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎี ซึ่งก็จะสอดคล้องกับระเบียบวิธีวิจัยที่เน้น Normative Research มากกว่า Empirical Research

 

เนื้อหาและการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาอาชญาวิทยา

        เมื่ออาชญาวิทยาเริ่มนำเข้ามาสู่ประเทศไทยใหม่ๆ นั้น เนื้อหาของอาชญาวิทยาจะเน้นเรื่องการลงโทษหรือทัณฑวิทยาเป็นส่วนใหญ่ ตำราของดร.เอช เอกูต์ (2478: P.1) ที่เป็นคำสอนชั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองระบุอย่างชัดเจน

“วัตถุของอาชญาวิทยาคือการศึกษาในเรื่องโทษด้วย เหตุนี้เองบางที่ในประเทศอังกฤษและอเมริกาจึงมีผู้เรียกวิชานี้ว่า “Penology” กล่าวคือวิธีบังคับซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีในกรณีที่เกิดมีความผิดขึ้น” 

จากนั้นในคำสอนดังกล่าวกว่า 375 หน้าก็อธิบายเรื่องของทัณฑวิทยาทั้งหมด ขณะที่ตำราของหลวงสกลสัตยากร (สง่า ลี้ตระกูล, 2478) ใช้ชื่อตำราว่าคำสอนวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา แต่เนื้อหาเน้นหนักไปทางทัณฑวิทยาเช่นกัน นอกจากนี้ในยุคนั้นยังมีดร.บรรยง  มกราภิรมณ์ ที่มีชื่อเสียงและผลงานด้านทัณฑวิทยาเผยแพร่ รวมถึงการร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าในยุคแรกนั้น อาชญาวิทยาในประเทศไทยเป็นยุคของทัณฑวิทยา

ในยุคต่อๆ มาอาชญาวิทยาได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยใช้ชื่อว่า “อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา” ในขณะที่ตำราที่ออกในยุคนี้ก็ใช้ชื่ออาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาโดยมีเนื้อหาที่แยกส่วนทั้งอาชญาวิทยาและส่วนที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำผิด ซึ่งสอดคล้องกับตำราอาชญาวิทยาในต่างประเทศในยุคนั้นที่ใช้ชื่อ “อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา” มาโดยตลอด อาทิตำราของ Richard Korn and Lloyd W.M. Korn (1961), John Gillin (1926) ผู้แต่งตำราอาชญาวิทยาในประเทศไทยสมัยนั้นสำเร็จการศึกษาจากประเทศตะวันตกจึงใช้ชื่อและมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับตำราอาชญาวิทยาในประเทศตะวันตก เช่น ตำราของพลตำรวจตรีชาย เสวิกุล (2509) อาจารย์สง่า ลีนะสมิต (2513) และอาจารย์สุวิทย์ นิ่มน้อย, เดชา ศิริเจริญ และอัษฎางค์ ปาณิกบุตร (2518) เป็นต้น และเช่นเดียวกับชื่อของตำรา ชื่อของวิชาที่เปิดสอนในคณะต่างๆ ก็จะให้ใช้ชื่อวิชาว่า “อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา” ยุคนี้จึงเป็นยุคที่อาชญาวิทยาจะต้องมาพร้อมกับทัณฑวิทยาเสมอคือ เมื่อศึกษาการกระทำผิดแล้วก็ต้องศึกษาว่าควรปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเช่นไร

การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาของอาชญาวิทยาในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดจากการลงโทษไปสู่การแก้ไข และเป็นผลทำให้วิชาทัณฑวิทยา (Penology) เปลี่ยนมาเป็นการแก้ไขผู้กระทำผิด (Correction) ซึ่งมาพร้อมๆ กับแนวคิดของการศึกษากระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบมากขึ้น และเน้นหลักในการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมจนทำให้วิชาทัณฑวิทยาเริ่มหายไป ทั้งในทางตำราและหลักสูตรการเรียนการสอน โดยยังหลงเหลืออยู่ในสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์หรือในมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น โดยมีวิชา “อาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม” เข้ามาแทนที่ เนื้อหาของการศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศไทยจึงสามารถสรุปได้ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1995511ddd

ในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดในเนื้อหาของอาชญาวิทยานั้น นับตั้งแต่ที่อาชญาวิทยาได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา การศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับอาชญากรรมพื้นฐานมาโดยตลอด การเรียนการสอน และการวิจัยทางอาชญาวิทยา ในระยะแรกเน้นอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า ข่มขืน เป็นหลัก ในขณะที่สถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม และการรายงานข่าวของสื่อมวลชนก็ปรากฏชัดเจนถึงการแพร่หลายของอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ และ อาชญากรรมเกี่ยวกับชีวิต เป็นการตอกย้ำถึงความหมายของอาชญากรรมว่าหมายถึงอาชญากรรมพื้นฐาน ต่อมาในระยะหลังปี พ.ศ. 2535 ที่ยาเสพติดเริ่มปรากฏขึ้นเป็นปัญหาสังคม ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมากจนกลายเป็นอาชญากรรมที่สำคัญของประเทศ แต่การศึกษาอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดก็ยังเป็นการมองในลักษณะของอาชญากรรมพื้นฐานที่มีความสัมพันธ์กับอาชญากรรมพื้นฐานอื่นๆ โดยเฉพาะอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น และ ฆ่า โดยผู้ประกอบอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็จัดเป็นอาชญากรรมพื้นฐานประเภทหนึ่ง การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในช่วงนี้จึงหนีไม่พ้นการศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรมพื้นฐาน

การเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาและจุดสนใจของการศึกษาอาชญาวิทยาในประเทศไทยเริ่มปรากฏชัดภายหลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและงานยุติธรรม ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.2548 ที่ทำให้มีการตื่นตัวในปัญหาอาชญากรรมร่วมสมัยและอาชญากรรมโฉมใหม่ ซึ่งก็สอดคล้องกับปัญหาอาชญากรรมในสังคมที่อาชญากรรมองค์กรข้ามชาติ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น จนทำให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารองรับและปราบปรามอาชญากรรมร่วมสมัยมากขึ้น อาทิ มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ศูนย์ประสานงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในประเทศไทย จึงเริ่มหันมาเปิดวิชาในด้านนี้มากขึ้น จนล่าสุดได้มีการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้านอาชญาวิทยาที่เน้นอาชญาวิทยาระหว่างประเทศ และอาชญาวิทยาธุรกิจ ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในจุดสนใจของการศึกษาอย่างชัดเจน

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเนื้อหาของอาชญาวิทยาในประเทศไทยที่นำโดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ นับเป็นการเปิดมิติของผู้เรียนอาชญาวิทยาใหม่จากที่เคยมีแต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมที่สนใจเข้ามาเรียนอาชญาวิทยา เปลี่ยนมาเป็นบุคลากรจากหลากหลายหน่วยงานหลายหลายสายอาชีพ ไม่ว่าจากนักธุรกิจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานควบคุมด้านนี้ ที่มาศึกษาอาชญาวิทยาธุรกิจ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่ทำงานด้านต่างประเทศของภาครัฐต่างๆ เช่น ตำรวจ หรือ อัยการ ตลอดจนถึงบุคลากรจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กร NGOs ต่างๆที่มาเรียนอาชญาวิทยาระหว่างประเทศ

ในส่วนของเนื้อหาอาชญาวิทยาทางธุรกิจ ก็จะเน้นการกระทำผิดทางการเงิน และ การทุจริตในองค์กร รวมตลอดถึงอาชญากรรม Cyber ต่างๆ เช่น การปั่นหุ้น, Bank fraud, Insider trading, Identity theft, Forensic Accounting and Investigation และความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ในส่วนของอาชญาวิทยาระหว่างประเทศ จะมีวิชาเรียนเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย นโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศในด้านความร่วมมือในการป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศ เป็นต้น ในขณะที่วิชาที่เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรมก็ยังคงมีอยู่

สรุป

อาชญาวิทยาในประเทศไทยมีพัฒนาการมากว่า 80 ปี โดยเริ่มต้นเข้ามาในสายนิติศาสตร์และยังคงผูกพันจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่อาชญาวิทยาในสายสังคมวิทยาและ
สหวิทยาการได้พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน จนสามารถเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอก และสามารถผลิตงานวิจัยด้านอาชญาวิทยาจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การเรียนการสอนอาชญาวิทยาในประเทศไทยสามารถพัฒนาทฤษฎีอาชญาวิทยาของตนเองขึ้นมาได้  อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในอาชญาวิทยาของไทยในปัจจุบันคือการเคลื่อนย้ายจุดสนใจของการศึกษาจากอาชญากรรมพื้นฐานไปสู่อาชญากรรมชั้นสูง จนทำให้เกิดการศึกษาด้านอาชญาวิทยาระหว่างประเทศและอาชญาวิทยาทางธุรกิจนั้นเอง

 

 

 

 

อ้างอิง

 

ชาย  เสวิกุล, อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2509

สง่า  ลี้ตระกูล, คำสอนขั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์วิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2478

สง่า  ลีนะสมิต, อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2513

สุวิทย์  นิ่มน้อย, เดชา  ศิริเจริญ และอัษฎางค์  ปาณิกบุตร, อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2518

เอช  เอกูต์, คำสอนขั้นปริญญาโททางนิติศาสตร์วิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2478

Gillin, John. Criminology and Penology. New York: Century Co., 1926

Korn, Richard and Lloyd W.M. Korn. Criminology and Penology. Holt, Rienhart and Winstion, Inc. 1961

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม