เปิดคุกเขมร: การราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชา

กิจการราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ (The General Department of Prisons) ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงกิจการภายใน โดยรับผิดชอบในการดูแลบริหารกิจการเรือนจำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 30 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นเรือนจำเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองเกือบทั้งหมด มีเรือนจำสร้างใหม่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่เพียง 3 แห่ง งานของกรมราชทัณฑ์ของกัมพูชา เป็นงานเรือนจำเกือบทั้งหมด เพราะยังไม่มีมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดรูปแบบอื่นๆ เช่น การคุมประพฤติ การพักการลงโทษ หรือ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในชุมชนรูปแบบอื่นๆ

large_r3548847628

จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศในปัจจุบัน (เดือนตุลาคม 2553) มีอยู่ 13,944 คน เป็นชาย 13,088 คน หญิง 856 คน และเป็นผู้ต้องขังผู้ใหญ่ 13, 169 คน เยาวชน 775 คน โดยกัมพูชายังไม่มีสถานพินิจฯ นอกจากนี้ เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี 4,443 คน ผู้ต้องขังเด็ดขาด 9,501 คน

จำนวนผู้ต้องขังในประเทศกัมพูชา มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เฉลี่ยร้อยละ 7.6 ต่อปี ย้อนไปในปีพ.ศ. 2546 ประเทศกัมพูชามีผู้ต้องขังอยู่เพียง 6,346 คน ช่วงเวลา 7 ปี ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังอย่างรวดเร็วนี้ สืบเนื่องจากที่มีคดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะคดีการพนัน ยาเสพติด เมาสุราอันนำไปสู่คดีอาชญากรรมอื่นๆ ตั้งแต่คดีลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ความรุนแรงในครอบครัว และแก๊งข่มขืน ในขณะที่ผลจากการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วไป ต้องการให้มีโทษจำคุกระยะยาวสำหรับผู้กระทำผิดในคดีลักทรัพย์ ในขณะที่คดีอาญาส่วนใหญ่ในประเทศกัมพูชาเป็นคดีที่สามารถยอมความได้โดยให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงทำให้คนทำผิดไม่ถูกดำเนินคดีและทำผิดซ้ำ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดของกรมราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชาในขณะนี้ ก็คือ ปัญหาความแออัด      ยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันเกินความจุปกติของเรือนจำอยู่มาก ปัญหาดังกล่าวคล้ายคลึงกับปัญหาของเรือนจำในประเทศไทย กล่าวคือ จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถานที่คุมขัง และจำนวนเจ้าหน้าที่ยังเท่าเดิม ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังในประเทศกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ทำให้เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ประเทศกัมพูชามีผู้ต้องขังอยู่ 13,944 คน แต่ความจุปกติของเรือนจำรองรับได้เพียง 8,500 คน ผู้ต้องขังจึงเกินความจุ และแออัดในเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อการควบคุมและการอบรมแก้ไข

ในด้านการควบคุม การที่มีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาด้านสถานที่ที่ใช้ในการนอน การฝึกอาชีพ การเลี้ยงอาหาร การอาบน้ำ ส้วม หรือแม้แต่บริเวณพักผ่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจำแนกและควบคุมผู้ต้องขังได้ ผู้ต้องขังต้องอยู่ปะปนกัน นอกจากนี้ ผู้ต้องขังจะว่างงานจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีงานและสถานที่เพียงพอที่จะแบ่งให้ผู้ต้องขังทำได้อย่างทั่วถึงทุกคน ทำให้ผู้ต้องขังหันไปเล่นการพนัน การทะเลาะเบาะแว้งและคำสั่งผิดระเบียบอื่นๆ สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคต่อการอบรมแก้ไขด้วย เพราะทำให้การอบรมแก้ไขเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสถานที่คับแคบและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง อย่างมีประสิทธิภาพได้ อย่างไรก็ตาม ในด้านเจ้าหน้าที่แล้ว การราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชา ยังมีอัตราส่วนของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังที่ดีกว่าประเทศไทย กล่าวคือ ในขณะที่มีผู้ต้องขังประมาณ 13,944 คน กัมพูชามีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 1,700 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 8 ในขณะที่ประเทศไทย มีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังประมาณ 1 ต่อ 21 คือ มีผู้ต้องขัง 216,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 10,700 คนโดยประมาณ

ในส่วนของการดูแลสภาพความเป็นอยู่ สุขภาพและสวัสดิการในเรือนจำนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาความแออัดยัดเยียดในเรือนจำเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งจากสถิติ พบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อ HIV และ TB เป็นจำนวนมาก (APCCA 2010 paper) โดยในปีค.ศ. 2010 มีการตรวจพบผู้ต้องขังที่สมัครใจเข้ารับการตรวจเลือดติดเชื้ออยู่ 235 คน มีผู้ป่วย TB จำนวน 119 คน ขณะที่จำนวน 12 คน ติดเชื้อทั้ง HIV และ TB

ปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขังนับเป็นปัญหาสำคัญของการราชทัณฑ์ในประเทศกัมพูชา จากการเข้าสำรวจเรือนจำต่างๆ 12 แห่งของหน่วยงานการแพทย์ขององค์กรอิสระระหว่างประเทศ LICADHO พบว่า ผู่ต้องขังส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาโรคติดต่อ เช่น โรคทางผิวหนัง โรคตาแดง เป็นต้น ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็ขาดแคลน เรือนจำบางแห่งไม่มีพยาบาล แต่ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติงานแทน นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังได้รับอาหารประจำวันที่คุณภาพต่ำมาก กล่าวคือ ประมาณวันละ 20 บาท ทำให้ผู้ต้องขังได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอ และไม่มีคุณภาพ แต่ก็ไม่อาจพึ่งอาหารจากญาติได้ เนื่องจากเรือนจำหลายแห่งอยู่ไกลจากตัวเมือง และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเยี่ยมญาติจะสูงมาก สำหรับคนกัมพูชา ทำให้ญาติไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังได้

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขัง เรือนจำจะเปิดโอกาสให้ญาติเยี่ยมได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่สำหรับญาติที่มาไกลจะได้รับการพิจารณาผ่อนผันในเรื่องวันและเวลา เรือนจำพยายามส่งเสริมการเยี่ยมญาติเพราะญาติสามารถนำอาหารมาฝากผู้ต้องขังได้ เป็นการบรรเทาการขาดแคลนอาหารที่ใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง นอกจากนี้ ยังเปิดให้มีการปรึกษาทางสุขภาพจิต หรือปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งทำโดยหน่วยงานช่วยเหลือทางกฎหมาย องค์กรเอ็นจีโอ และสถานทูต อีกทั้ง ยังได้รับการช่วยเหลือด้านสวัสดิการของใช้จากสำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาน้ำสะอาดให้ผู้ต้องขังในเรือนจำไช้ โดยเฉพาะที่เรือนจำ     เสียมเรียบ จนสามารถทำให้ผู้ต้องขัง 1,000 กว่าคน มีน้ำสะอาดใช้ในเรือนจำได้ (UN News Centre, 5/1/10)

นอกจากการให้ความช่วยเหลือในด้านสวัสดิการและสิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติแล้วยังมีประเทศต่างๆได้ให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้การช่วยเหลือในการพัฒนากฎหมายอาญา รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นให้การช่วยเหลือพัฒนางานตำรวจ และกระทรวงยุติธรรม และรัฐบาลออสเตรเลียได้เสนอแผน 5 ปี ในการช่วยเหลือพัฒนากระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรเรือนจำ เนื่องจาก กรมราชทัณฑ์เคยอยู่ในสังกัดเดียวกันกับกรมตำรวจ เจ้าพนักงานเรือนจำส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาตามแบบฉบับของตำรวจและโอนติดตามสังกัดเดิมมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนในการจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นระยะเวลา 6 เดือน และจัดหลักสูตรอื่นๆ อีกหลายหลักสูตร รวมทั้งการให้ผู้บริหารระดับสูงของกรมราชทัณฑ์กัมพูชาได้ไปศึกษาดูงานราชทัณฑ์ในประเทศต่างๆ ที่มีระบบการราชทัณฑ์ที่ทันสมัย รวมทั้งในประเทศไทย เช่นในปีพ.ศ. 2549 อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันก็เป็นปัญหาหลักด้านบุคลากรที่จะต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กับเรื่องความรู้ความสามารถในการทำงาน

ปัญหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการที่ผู้ต้องขังล้นเรือนจำคือ ความเก่าแก่ทรุดโทรมของอาคารสถานที่ของเรือนจำต่างๆ เนื่องจากเรือนจำในประเทศกัมพูชาส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาในสมัยสงครามกลางเมือง แล้วไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุง อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามในการปรับปรุงซ่อมแซมสภาพเรือนจำเก่าต่างๆ ให้มีความมั่นคงและมีอาคารสถานที่ที่ทันสมัย ถูกสุขลักษณะมากขึ้น รวมถึงได้มีการก่อสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ 3 แห่ง ซึ่งรวมถึงเรือนจำ PURAT ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จุผู้ต้องขังได้ 2,500 คน เพื่อรองรับผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้น และทดแทนเรือนจำเก่าที่ทรุดโทรม

ในปัจจุบันประเทศกัมพูชามีเรือนจำอยู่ทั้งสิ้น 30 แห่ง เป็นเรือนจำแห่งชาติ 4 แห่ง เรือนจำจังหวัด 24 แห่ง และเรือนจำท้องถิ่นอีก 2 แห่ง และกำลังจะจัดตั้งทัณฑสถานเปิดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง สำหรับการเตรียมการปลดปล่อย โดยในส่วนของการพัฒนาระบบเรือนจำ การราชทัณฑ์ของกัมพูชาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้เข้ามาช่วยด้านการพัฒนาระบบเรือนจำให้ทันสมัย มีการปรับปรุงออกแบบเรือนจำใหม่ ขณะเดียวกันก็จัดให้มีการพัฒนาด้านบุคลากรเรือนจำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในการนี้ได้มีความพยายามในการที่จะทำให้เรือนจำ KANDAL เป็นเรือนจำจังหวัดต้นแบบ

อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติที่เข้าตรวจสภาพเรือนจำในกัมพูชารายงานว่า ปัญหาความแออัดยัดเยียดในเรือนจำของกัมพูชานับเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะที่เรือนจำจังหวัดกัมปงทม เรือนจำจังหวัดบานเตยมันเชย (Banteay Meanchey) และเรือนจำจังหวัดสีหนุวิลล์ โดยเฉพาะที่เรือนจำกัมปงทม ผู้ต้องขังมีพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตรต่อคน เพราะผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ปัญหาความแออัดส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำในด้านต่างๆ ผู้ต้องขังว่างงาน และบางแห่งไม่มีพื้นที่ให้ผู้ต้องขังอยู่ ต้องขังไว้ในเรือนนอน นอกจากนี้ ผู้ต้องขังยังเจ็บป่วยด้านโรคติดต่อตามมา หน่วยงานของ UN ยังรายงานอีกว่า ได้เข้าไปแก้ปัญหาน้ำในเรือนจำเสียมเรียบ ซึ่งมีปัญหาเรื่องน้ำสะอาดสำหรับใช้ในเรือนจำ และได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุง 3 ด้าน เพิ่มค่าอาหารจากวันละ 10 บาท เป็น 20 บาท แก้ปัญหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ การออกแบบเรือนจำที่เป็นมาตรฐาน และจัดให้มีคณะกรรมการตรวจเรือนจำ นอกจากนี้ กัมพูชายังมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนอายุ 14 – 18 ปีในศาลผู้ใหญ่และถูกคุมขังในเรือนจำผู้ใหญ่ ในบางจังหวัด โดยเฉพาะในเขตที่ไม่มีสถานที่แยกขังอย่างเด็ดขาด ขณะนี้มีเด็ก 718 คนในเรือนจำทั่วประเทศ

การพัฒนาระบบราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชา คงต้องพัฒนาอย่างเป็นระบบ พิจารณาแต่เฉพาะงานราชทัณฑ์คงไม่ได้ เพราะปัญหานักโทษล้นเรือนจำในประเทศกัมพูชา เป็นผลมาจากปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ในขณะที่ตำรวจได้เร่งระดมปราบปรามจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ต้องขังเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ส่งผลถึงคดีเข้าสู่ระบบของอัยการและการพิจารณาคดีของศาลที่มีคดีล้นศาล ทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีและการขังระหว่างพิจารณาคดีมีระยะเวลายาวนาน ปัจจุบันประเทศกัมพูชามีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ 4,443 คน คิดเป็นร้อยละ 34 ของผู้ต้องขังทั้งหมด ขณะเดียวกัน โทษจำคุกก็เป็นมาตรการลงโทษหลักที่ศาลใช้ เพราะศาลขาดมาตรการทางเลือกอื่นๆ ที่จะมาแทนมาตรการจำคุกได้ ในประเทศกัมพูชายังไม่มีการนำระบบคุมประพฤติมาใช้ คงมีแต่การรอการลงอาญา แต่ใช้ไม่แพร่หลาย เพราะยังไม่มีมาตรการคุมประพฤติหรือมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชนอื่นๆ รองรับ

นอกจากนี้ เมื่อผู้ต้องขังเข้าสู่ระบบเรือนจำแล้ว การราชทัณฑ์ในประเทศกัมพูชาขาดระบบการกลั่นกรองคนออกไปสู่สังคมก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษา คือ ระบบพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ คงมีแต่การอภัยโทษซึ่งจะมีในวาระโอกาสสำคัญๆ นานๆครั้ง ปกติจะมีในการครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์กัมพูชา หรือวันปีใหม่ หรือมีการอภัยโทษ ลดโทษ ในกรณีพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าประเทศกัมพูชาขาดทั้งมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกและมาตรการทางเลือกในการลดจำนวนผู้ต้องขังลง จึงทำให้ผู้กระทำผิดต้องเข้าเรือนจำมากขึ้น และเมื่อเข้าไปในเรือนจำแล้วจะมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเรือนจำยาวนานขึ้น

โดยสรุปแล้ว งานราชทัณฑ์ในประเทศกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆตามมา ทั้งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และจากรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย ที่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบเรือนจำให้ทันสมัย รวมตลอดถึงประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ก็เช้ามาช่วยในด้านอื่นๆ แตกต่างกันไป การขาดแคลนงบประมาณ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตลอดจนขาดความสนใจ เอาใจใส่จากรัฐบาล ทำให้งานราชทัณฑ์ของประเทศกัมพูชา พัฒนาไปได้ช้ามาก แต่ก็เป็นผลดีที่ ไม่ทำให้งานราชทัณฑ์พัฒนาก้าวหน้าไปเร็วไปกว่าความเป็นอยู่ของผู้คนภายนอกเรือนจำ

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/423751

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม