ยาเสพติดกับอาชญากรรม : บททบทวนวรรณกรรม (ตอนที่1)

นัทธี  จิตสว่าง

ความนำ

ความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรมหรือกล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ความสัมพันธ์ระหว่างการเสพยาเสพติดกับการประกอบอาชญากรรม  เป็นเรื่องที่คนโดยทั่วไปมักมีความเชื่อกันว่าการเสพยาเสพติดเป็นต้นเหตุสำคัญของการก่ออาชญากรรมสาเหตุหนึ่ง  โดยเฉพาะความเชื่อในประเด็นที่ว่า  ผู้ติดยาเสพติดจะประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์เพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด

สำหรับนักอาชญาวิทยา ความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรมนั้นมีมานานแล้ว  ในระยะแรกยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่สนใจเท่าใดนัก  แต่ภายหลังนับจากที่  Lawrence Kolb (1925) พบว่าผู้ติดยาเสพติดที่ประกอบอาชญากรรมนั้น  ประกอบอาชญากรรมมาก่อนที่จะติดยาเสพติด  และยาเสพติดไม่นำไปสู่การประกอบอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรงทำให้มีการศึกษาวิจัยเสริมต่ออีกมากมาย  ทั้งนี้การวิจัยดังกล่าว  เป็นการโต้แย้งกันในประเด็นต่าง ๆ  หลายประเด็น  อย่างไรก็ตามการวิจัยทั้งหมดก็มุ่งที่จะหาคำตอบในเรื่องเดียวกัน คือความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรม

บทความในเรื่องนี้เป็นการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยในระยะหลัง ๆ  เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมว่าได้มีการศึกษาไว้อย่างไรและบทสรุปในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ประเด็นหลักในการวิจัย 

การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดกับอาชญากรรมนี้ได้มีผู้ทำวิจัยไว้มากมายนับร้อยเรื่อง  อย่างไรก็ตามการวิจัยดังกล่าวที่ผ่านมามักจะเป็นการโต้แย้งกันในประเด็นหลักเพียงไม่กี่ประเด็น  ประเด็นที่สำคัญคือ

  1. ตัวแปรสองตัวนี้มีความสัมพันธ์กันหรือไม่
  2. ถ้าไม่มี  เป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวแปรทั้งสองตัวเป็นผลมาจากตัวแปรที่สาม
  3. ถ้ามี ตัวแปรตัวใดมาก่อน กล่าวคือยาเสพติดมาก่อนอาชญากรรม  หรืออาชญากรรมมาก่อนยาเสพติด
  4. หากยาเสพติดมาก่อนอาชญากรรมแล้ว คำถามที่จะตามมาก็คือว่าในสภาพอย่างไร  หรือมีอิทธิพลมากน้อยเพียงไรที่ยาเสพติดนำไปสู่อาชญากรรม และคนที่ติดยาเสพติดทุกคนจะต้องหันไปประกอบอาชญากรรมหรือไม่  คนประเภทใดที่จะหันไปประกอบอาชญากรรมและคนประเภทใดไม่หันกลับไปประกอบอาชญากรรม
  5. หากอาชญากรรมมาก่อนยาเสพติด ภายหลังจากติดยาเสพติดแล้วการประกอบอาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
  6. หากยาเสพติดมีความสัมพันธ์กับอาชญากรรมแล้ว การติดยาเสพติดจะนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมประเภทใด

ในการตอบคำถามข้างต้นดังกล่าว  การวิจัยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในผลการวิจัย กล่าวคือการวิจัยบางเรื่องพบความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรมแต่การวิจัยบางเรื่องไม่พบ หรือการวิจัยบางเรื่องพบว่ายาเสพติดนำไปสู่อาชญากรรม  แต่การวิจัยบางเรื่องพบในทางตรงกันข้าม อย่างไรก็ตามหากจะพิจารณาถึงการวิจัยโดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่พบว่า ยาเสพติดมีความสัมพันธ์กับอาชญากรรม  แต่ปัญหาที่เป็นเรื่องโต้แย้งกันก็คืออาชญากรรมมาก่อนยาเสพติด  หรือยาเสพติดมาก่อนอาชญากรรม  ดังนั้นเพื่อเป็นการทบทวนผลการวิจัยในประเด็นโต้แย้งดังกล่าว  จึงอาจแยกพิจารณาการวิจัยดังกล่าวได้ดังนี้

อาชญากรรมมาก่อนยาเสพติด 

คำถามที่น่าพิจารณาในการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรมก็คือคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่เคยประกอบอาชญากรรม  หรือประพฤติเกเรมาก่อนที่จะติดยาเสพติด เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว นักวิจัยก็จะเลือกตัวอย่างจากผู้ติดยาเสพติดกลุ่มหนึ่งมาศึกษาว่า  ผู้ติดยาเสพติดกลุ่มดังกล่าวเคยมีประวัติการกระทำผิด หรือประวัติการถูกจับกุมมาก่อนที่จะเริ่มเสพยาเสพติดหรือเริ่มติดยาเสพติดหรือไม่ ผลการวิจัยที่ปรากฏออกมามีความหลากหลายพอสมควร อย่างไรก็ตามจากการที่ Greenberg and Adler (1974) ได้ทบทวนวรรณกรรมหรือผลงานวิจัยนับตั้งแต่ปี 1920 ถึง 1974 พบว่าในช่วงปี 1920 – 1940 การวิจัยหลายเรื่องไม่พบว่าผู้ติดยาเสพติดเคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อนการติดยาเสพติดแต่ในระยะหลังการวิจัยหลายเรื่องพบในทางตรงกันข้าม คือผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่จะเคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน

Johnston et al (1978)  ได้ติดตามศึกษาชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งเป็นเวลาหลายปีเพื่อที่จะดูว่าการเสพยาเสพติดนำไปสู่พฤติกรรมในการกระทำผิด  หรือพฤติกรรมในการกระทำผิดมาก่อนการเสพยาเสพติด  คณะผู้วิจัยได้สรุปผลการวิจัยว่า  การเสพยาเสพติดไม่มีบทบาทในการทำให้  ผู้เสพเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมในการกระทำผิดมากขึ้น  ตรงกันข้ามเด็กที่มีพฤติกรรมในการกระทำผิดหรือเด็กเกเรอยู่  มักจะหันไปสู่ยาเสพติดในเวลาต่อมา  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเสพยาเสพติดเป็นวัฒนธรรมย่อยของเด็กที่มีพฤติกรรมในการกระทำผิดหรือเด็กเกเรซึ่งมักจะชักชวนกันให้หันไปสู่ยาเสพติด

Tayler & Allbright  (1981)  ศึกษาผู้เสพเฮโรอีน  1,728  คน  เพื่อดูว่ามีการเสพก่อน เข้าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือไม่  และเพื่อดูว่าความสัมพันธ์ของการเสพเฮโรอีนกับอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ  พบว่าผู้เสพมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม  (ที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด)  มาก่อนที่จะเสพเฮโรอีนเนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างอายุที่เริ่มเสพกับอายุขณะที่กระทำผิดครั้งแรก

Inciardi (1980) วิเคราะห์กลุ่มผู้ติดเฮโรอีนพบว่าแทบจะทั้งหมดจะประกอบอาชญากรรมก่อน  สรุปอาชญากรรมมาก่อนการเสพเฮโรอีน  โดยให้เหตุผลว่าเกณฑ์อายุเฉลี่ยในการกระทำผิดครั้งแรก 14.2  ปี  และอายุเฉลี่ยที่เริ่มเสพเฮโรอีน  16.8  ปี  เช่นเดียวกับพวกที่เสพกัญชา  โคเคน  มีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มกระทำผิดครั้งแรก  13  ปี  และเริ่มเสพเมื่อ  14.3  ปี  แต่สรุปว่า  ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมและยาเสพติดอาจจะให้ผลต่างกันในเด็กกลุ่มต่างๆ  กัน

Johansson & Bjerver  (1982)  ศึกษายาเสพติด  สภาพสังคมและอาชญากรรมในกลุ่มผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา – ไต่สวน  จำนวน  500  คน  ในกรุง  Stockholm  พบว่า  56%  ของผู้ที่ติดยาและสุรามีการเสพก่อนประกอบอาชญากรรมก่อน  และ  38%  ประกอบอาชญากรรมก่อนติดยา

Stanton  (1969)  ศึกษาอยู่ระหว่างการพักการลงโทษ  150  คน  ที่เคยมีประวัติติดยาเสพติดมาก่อน พบว่ามีผู้ได้รับการพักการลงโทษ 108 คน เคยถูกจับกุมครั้งแรกก่อน  เสพยาเสพติดและ  27  คน  เสพยาเสพติดก่อนถูกจับครั้งแรก  ส่วนอีก  15  คน  กำลังเสพยาเสพติดขณะที่ถูกจับกุม อย่างไรก็ตามการใช้เกณฑ์เรื่องการถูกจับกุมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นการประกอบอาชญากรรมนั้นยังขาดความแน่นอน  เพราะอาจมีการประกอบอาชญากรรมโดยไม่ถูกจับก็ได้

Mc Glothlin et al  (1978)  เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาถึงวงจรชีวิตผู้ติดยาเสพติด ร้อยละ  80  ของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเคยถูกจับกุมในความผิดอาญาก่อนติดยาเสพติด  ในขณะที่  Chamber et al  (1968)  ก็พบในลักษณะเดียวกัน  กล่าวคือในการศึกษาผู้ติดยาเสพติดที่เป็นคนผิวดำกลุ่มหนึ่ง พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดถูกจับกุมในคดีความผิดอาญาก่อนที่จะเสพยาเสพติด อย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยบางเรื่องที่พบว่าผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อนที่การวิจัยของ  Nurco and DuPont    (1977)  สรุปว่า  หากจะมีความสัมพันธ์แล้ว  ความสัมพันธ์ระหว่างการเสพยาเสพติดกับการประกอบอาชญากรรมรุนแรงนั้นมีอยู่น้อยมาก  แต่ภายหลังจากที่ติดยาเสพติดแล้วการประกอบอาชญากรรมจะเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นจากการวิจัยของ  Nurco and DuPont ในประเด็นหลังที่ว่าเมื่อติดยาเสพติดแล้วการกระทำผิดจะเพิ่มขึ้นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ  ทั้งนี้โดยที่ไม่สนใจว่าผู้ติดยาเสพติดจะมีพฤติกรรมทางอาชญากรมาก่อนหรือไม่  แต่ภายหลังจากที่ติดยาเสพติดแล้วมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพฤติกรรมทางอาชญากรหรือไม่  คำถามในประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องที่จะพิจารณาในหัวข้อต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมอาชญากรภายหลังการติดยาเสพติด 

ปัญหาข้อต่อไปมีอยู่ว่า พฤติกรรมในการประกอบอาชญากรรมจะเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากที่ติดยาเสพติดหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งจะมีการประกอบอาชญากรรมบ่อยครั้งขึ้น  หรือรุนแรงขึ้นหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีนักอาชญาวิทยาหลายคนที่พยายามจะหาคำตอบดังกล่าวและผลการวิจัยส่วนใหญ่จะปรากฏออกมาในลักษณะที่สอดคล้องกันคือจะพบว่า แม้ว่าการกระทำผิดจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้เสพยาเสพติดแล้ว วิถีชีวิตของพวกเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือประกอบอาชญากรรมมากขึ้น

Plair  and  Jackson  (1970)  ได้สัมภาษณ์ผู้ติดยาเสพติด  50  คน  ที่พักอยู่ในบ้านกึ่งวิถีในกรุงวอชิงตัน  ดี  ซี  เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมกับยาเสพติดพบว่า  ผู้ติดยาเสพติดทั้ง  50  คน  เคยประกอบอาชญากรรมมาก่อนที่จะติดยาเสพติด  แต่หลังจากที่ติดยาเสพติดแล้วการประกอบอาชญากรรมจะเพิ่มข้น

Stephens   and  Ellis  (1975)  ได้วิเคราะห์ประวัติการถูกจับกุมของผู้ติดยาเสพติด   กลุ่มหนึ่งในรัฐนิวยอร์ก  เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของการประกอบอาชญากรรมภายหลังการติดยาเสพติด พบว่าภายหลังจากที่กลุ่มตัวอย่างติดยาเสพติดแล้วสถิติการถูกจับกุมของกลุ่มตัวตัวอย่างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์  แต่ในความผิดเกี่ยวกับร่างกายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  นอกจากนี้  O, Donnell  (1969)  ได้ศึกษาผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดแห่งหนึ่งพบว่า ผู้ติดยาเสพติดที่ศึกษาประกอบอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นภายหลังติดยาเสพติด  นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ติดยาเสพติดกลุ่มนี้ประกอบอาชญากรรมมากกว่าบุคคลโดยทั่วไปที่มีอายุในระดับเดียวกัน  กล่าวคือจากการวิเคราะห์สถิติพบว่า  บุคคลโดยทั่วไปจะประกอบอาชญากรรมลดน้อยลง  เมื่ออายุ  30  ปีขึ้นไปแต่สำหรับกลุ่มผู้ติดยาเสพติดแล้วกลับประกอบอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการวิจัยที่พยายามพิจารณาในมุมกลับคือ “เมื่อการเสพยาเสพติดลดลง การประกอบอาชญากรรมจะลดลงหรือไม่”  Mc Glothin  et. al (1978)  พบว่าจำนวนครั้งในการเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมอาชญากรจำนวนครั้งของการประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ที่ได้รับรายงาน  และรายได้จากการประกอบอาชญากรรมลดลงอย่างสอดคล้องกับการลดลงของการเสพยาเสพติด  อย่างไรก็ตามมีการวิจัยบางเรื่องที่พบในสิ่งตรงกันข้ามกับการวิจัยส่วนใหญ่  เช่น  การวิจัยของ  Rosentnal  et al  (1973)  ซึ่งศึกษาผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานบำบัด  จำนวน  216  คน  พบว่าภายหลังการติดยาเสพติดของกลุ่มตัวอย่างการประกอบอาชญากรรมของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวทั้งในด้านปริมาณและความรุนแรงมิได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามบทสรุปจากการวิจัยในขณะนี้ก็คือว่า  การวิจัยส่วนใหญ่พบว่าผู้ติดยาเสพติดส่วนใหญ่เคยประกอบอาชญากรรมมาก่อนการติดยาเสพติด  แต่ภายหลังการติดยาเสพติดแล้ว   การประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้เพิ่มมากขึ้น

 ยาเสพติดมาก่อนอาชญากรรม 

ในการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรมนั้น  ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายบริหารต้องการที่จะทราบก็คือ  ประเด็นที่ว่ายาเสพติดเป็นที่มาหรือสาเหตุของอาชญากรรมได้หรือไม่  แต่โดยเหตุที่การใช้คำว่า “สาเหตุ”  ในทางสังคมศาสตร์เป็นเรื่องที่มีขอบเขตจำกัด  ดังนั้นประเด็นที่จะต้องพิจารณาจึงเหลือแต่เพียงว่าก่อนที่ผู้กระทำผิดจะประกอบอาชญากรรมนั้น เคยเสพหรือติดยาเสพติดมาก่อนหรือไม่  อีกนัยหนึ่ง  “ยาเสพติดมาก่อนอาชญากรรม”  ใช่หรือไม่  การที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้ผู้วิจัยมักจะเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้กระทำผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาศึกษา  เช่น  กลุ่มผู้ต้องหา  กลุ่มผู้ต้องขัง  กลุ่มเด็กในสถานพินิจหรือกลุ่มผู้ที่อยู่ในสถานควบคุมหรือบ้านกึ่งวิถี  จากนั้นจึงมาศึกษาประวัติกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นเคยเสพ  หรือติดยาเสพติดหรือไม่ หากพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยเสพหรือติดยาเสพติดก็จะสรุปว่า  ยาเสพติดมีความสัมพันธ์กับอาชญากรรม  หรือยาเสพติดเป็นที่มาของอาชญากรรม

เพื่อที่จะศึกษาว่ายาเสพติดเป็นที่มาของอาชญากรรมได้แค่ไหนเพียงใด Eckerman et  al.  (1971)  ได้ศึกษาผู้ต้องหาในคดีต่างๆ 1,800 คน ในเขตเมืองใหญ่ของสหรัฐ 6  เมือง  โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์  ตรวจปัสสาวะและตรวจสอบจากเอกสารทางราชการ  ทั้งนี้โดยแยกออกเป็น  3  กลุ่ม  คือพวก  “เคยเสพ”  “กำลังเสพ”  และ  “ไม่เคยเสพ”  พบว่าจากจำนวน  1,800 คน  มีผู้ต้องหา  461  คน  ที่  “กำลังเสพ”    เฮโรอีนอยู่ในขณะถูกจับและในจำนวน  461  คน  นี้ถูกจับในคดีปล้นทรัพย์  ลักทรัพย์ในเคหสถาน  และลักขโมยเสีย  61.3%  แต่ถูกจับในคดีฆ่าคนตาย  ข่มขืน  และทำร้ายร่างกายเพียง  6.1%  สำหรับพวกที่  “เคยเสพ”  เฮโรอีนก็เช่นกันพบว่า  54.7%  ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับทรัพย์และ  9.9%  ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับชีวิต  และร่างกายในขณะที่พวกที่  “ไม่เคยเสพ”  เฮโรอีนนั้นมีเพียง  35.7%  ที่ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับทรัพย์และ  23.6%  ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย  การวิจัยนี้ผู้วิจัยสรุปว่า  ส่วนใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์

Bass  et  al.  เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรม  โดยได้ศึกษาผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังในตะรางจำนวน  150  คน  ผลปรากฏว่ามีผู้ต้องหา  47%  เป็นผู้ติดยาเสพติดคือเสพบ่อย ๆ  และ  21%  เป็นพวกนาน ๆ  เสพ  ที่เหลือเป็นพวกที่ไม่เสพยาเสพติด  32%  พวกที่เสพยาเสพติด  68%นั้น  พบว่าเป็นผู้ที่กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับทรัพย์มากกว่าพวกที่ไม่เสพ  นอกจากนี้พวกที่ติดเฮโรอีนยังถูกจับกุมในคดีการครอบครอง  หรือซื้อขายยาเสพติดและความผิดฐานลักทรัพย์  ในขณะที่พวกที่ไม่ติดยาเสพติดจะถูกจับกุมในคดีปล้น  และทำร้ายร่างกายเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่  Eckerman  et.  al. และ  Bass et.  al.ศึกษาจากผู้ถูกจับกุม Barton (1976) หันมาศึกษาจากผู้ต้องขัง โดยได้ศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐต่างๆ  จำนวน  10,400  คน  พบว่า  30%  ของผู้ต้องขังดังกล่าวเคยเสพเฮโรอีนมาก่อน  เมื่อนำผู้ต้องขังกลุ่มที่เคยเสพเฮโรอีนมาก่อนไปเปรียบเทียบกับผู้ต้องขังกลุ่มที่ไม่เคยเสพเฮโรอีนมาก่อน  พบว่า25%  ของผู้ต้องขังที่เคยเสพเฮโรอีนมาก่อน  ต้องโทษในคดีปล้นทรัพย์  ในขณะที่ 20% ของผู้ต้องขังที่ไม่เคยเสพเฮโรอีนมาก่อน ต้องโทษในคดีปล้นทรัพย์ และผู้ต้องขังที่เคยติดเฮโรอีนมาก่อนต้องโทษในคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพียง  15%  เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องขังที่ไม่เคยเสพซึ่งมีถึง  35%

เกี่ยวกับการศึกษาถึงประวัติการเสพยาเสพติดของผู้ต้องขังนั้น  ยังมีการศึกษาอีกหลายเรื่องที่ยืนยันว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่  (ในสหรัฐอเมริกา)  มีประวัติการเสพยาเสพติดมาอย่างโชกโชน  จากการศึกษาของกรมราชทัณฑ์รัฐวิสคอลซิน  (1976)  พบว่า  42%  ของผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐนี้เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการดื่มสุรา  และ  65%  เคยผ่านการเสพยาเสพติดมาไม่นานก่อนเข้ามาอยู่ในเรือนจำ  ในขณะที่การศึกษาของกรมราชทัณฑ์รัฐแมชซาจูเซทส์  (1974)  พบว่า  48%  ของผู้ต้องขังในเรือนจำของรัฐนี้เคยมีปัญหากับยาเสพติดมาก่อนแต่ผลการศึกษาที่น่าสนใจ คือการศึกษาของกรมราชทัณฑ์ของรัฐนิวยอร์ค  (1979)  ซึ่งพบว่าในปี  1978  60%  ของผู้ต้องขังชาย  และ  55%  ของผู้ต้องขังหญิงในรัฐนี้เคยเสพยาเสพติดในขณะที่ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดนั้นมีอยู่เพียง  16%  สำหรับผู้ต้องขังชาย  และ  22%  สำหรับผู้ต้องขังหญิง  นอกจากนี้ในบรรดาผู้ต้องขังที่เคยเสพยาเสพติดนี้มีอยู่เพียง  1  ใน  8  เท่านั้นที่เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด  ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ต้องขัง  ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นมีจำนวนมากกว่าผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมในคดียาเสพติด  อย่างไรก็ตาม  Bowker  (1982)  ได้ให้เสนอข้อเปรียบเทียบว่าสัดส่วนผู้ต้องขังที่เคยเสพยาเสพติดในเรือนจำของสหรัฐค่อนข้างจะมากกว่าประเทศอื่น ๆ  เช่นในสวีเดนในปี  1978  มีผู้ต้องขังในเรือนจำที่เคยเสพยาเสพติดเพียง  33%  สำหรับในประเทศไทย  กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังที่เคยเสพยาเสพติดเท่าใด  สำหรับผู้ต้องขังในคดีตามพระราชบัญญัติยาเสพติดนั้น  มีอยู่ประมาณ  20%  ของผู้ต้องขังทั้งหมด

ความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรมเป็นผลมาจากตัวแปรแทรก

คำถามที่ตามมาจากการที่มีการศึกษาพบความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรม  ก็ถือว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า  ความสัมพันธ์ของยาเสพติดและอาชญากรรมดังกล่าวเป็นผลมาจาก   ตัวแปรแทรก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรที่เกี่ยวกับแบบพฤติกรรม  บุคลิกภาพตลอดจนสภาพของสังคมของผู้ติดยาเสพติด

Stimson   (1973)  ได้ศึกษาแยกประเภทผู้เสพยาเสพติดออกเป็น  4  ประเภท  คือ   พวกเสพแบบผิวเผิน  พวกเสพคนเดียว  พวกมีวัฒนธรรมสองแบบ  และพวกติดลึก   Stimson  พบว่า  พวกแรกเป็นพวกที่โดยปกติไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเพราะเป็นพวกที่มีงานทำ  และจะไม่คบหาสมาคมกับแก๊งค์ยาเสพติดต่าง ๆ  สามารถที่จะปรากฏตัวในสังคมโดยคนทั่วไป  อาจไม่ทราบว่าเสพยาเสพติด  พวกที่สองเป็นพวกที่โดยทั่วไปจะไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเช่นกัน  เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีงานทำแต่ก็มีญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือสนับสนุนอยู่  พวกที่สามหรือพวกที่มีชีวิตสองแบบนั้น  เป็นพวกที่แม้จะมีงานทำมีความพร้อมทางสังคม แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม และพวกสุดท้ายคือพวกติดลึกนั้นเป็นพวกที่ไม่มีงานทำไร้ญาติขาดมิตร  และเข้าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมอย่างเต็มที่

 นอกเหนือจากการศึกษาดังกล่าวแล้ว  Inciarti  (1974)  ได้ศึกษาแยกประเภทผู้เสพยาเสพติดออกเป็น  5  ประเภท   คือ  (1)  พวกติดยาเสพติดที่เป็นอาชญากรอาชีพ  (2)  พวกใช้และเสพยาเสพติดในวิชาชีพต่าง ๆ  (3)  พวกติดยาเสพติดที่เป็นแก๊งค์วัยรุ่น  (4)  พวกเสพยาเสพติดหลาย ๆ  ชนิดปะปนกัน  และ  (5)  พวกเสพเฮโรอีนที่หลบซ่อนตามตรอกถนนต่าง ๆ  พวกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากที่สุดก็คือพวกที่  1  พวกที่  4  และพวกที่  5  นั้นเอง  จากการศึกษาดังกล่าวและการศึกษาเพิ่มเติมของ  Inciarti  (1981)  จึงสรุปประเด็นได้ว่า  การประกอบอาชญากรรมจะมาก่อนการเสพยาเสพติด  หรือการเสพยาเสพติดจะมาก่อนการประกอบอาชญากรรมนั้น ไม่เป็นประเด็นที่สำคัญ  เพราะความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สาม กล่าวคือถ้าหากศึกษาจากกลุ่มประชากรที่เสพยาเสพติดที่มีฐานะดีหรือมีงานทำก็จะพบว่ากลุ่มประชากรดังกล่าวไม่เคยมีคดี  หรือเคยทำผิดมาก่อนเป็นส่วนใหญ่  แต่หากศึกษาจากกลุ่มประชากรที่เสพยาเสพติดที่มีพื้นฐานมาจากสลัมก็จะพบประวัติการกระทำผิดมาก่อนการเสพยาเสพติด  ดังนั้น  ข้อสรุปในขณะนี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรมที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นข้อสรุปของ  Ball  (1977)  ที่ว่าการประกอบอาชญากรรมกับการเสพยาเสพติดมีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่งในกลุ่มผู้เสพยาเสพติดที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้  Inciardi  ยังสรุปอีกว่าอาชญากรรมจะมาก่อนยาเสพติดหรือยาเสพติดจะมาก่อนอาชญากรรมนั้นไม่สำคัญ  แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า  ปัจจัยอะไรที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นยังคงยึดแบบพฤติกรรมอาชญากรรมและเสพยาเสพติดต่อไปจนติดยาเสพติดเพราะคนที่เสพยาเสพติดไม่จำเป็นต้องติดยาเสพติดและคนโดยทั่วไหก็เคยทำผิดกฎหมายมาแล้วแทบทุกคน แต่ทำไมคนทั่วไปจึงไม่ดำเนินชีวิตแบบอาชญากร คำถามดังกล่าวเป็นสิ่งท้าทายให้มีการศึกษาต่อไป และแน่นอนคำตอบจะต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยแทรกอื่น ๆ  ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/410958

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม