ยาเสพติดกับอาชญากรรม : บททบทวนวรรณกรรม (ตอนที่2)

ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีการวิจัย

การที่ผลการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรมปรากฏออกมาในลักษณะที่หลากหลายเช่นนี้  นับว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดแต่ประการใดเพราะหากจะพิจารณาถึงระเบียบวิธีวิจัยของการวิจัยแต่ละเรื่องแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ความหลากหลายของผลการวิจัยเป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระเบียบวิธีการวิจัยของแต่ละเรื่องเป็นสำคัญ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระเบียบวิธีการวิจัยในการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรมนั้น  อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

    1. การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายเรื่อง  โดยเฉพาะการวิจัยในช่วงแรก ๆ  พยายามที่จะอธิบายสาเหตุของอาชญากรรมหรือการเสพยาเสพติดจากปัจจัยตัวหนึ่งตัวใดเพียงตัวเดียว เช่นการเสพยาเสพติดเป็นสาเหตุของการประกอบอาชญากรรม หรือการประกอบอาชญากรรมเป็นสาเหตุของการเสพยาเสพติด หรือทั้งการเสพยาเสพติดและการประกอบอาชญากรรมมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่สาม แต่การอธิบายจากสาเหตุปัจจัยเดียวดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในทางสังคมศาสตร์  เพราะในทางสังคมศาสตร์นั้นเป็นการยากที่จะระบุให้แน่ชัดถึงสาเหตุของปรากฏการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดได้  เราเรียนรู้แต่เพียงว่า เมื่อมีปรากฏการณ์ใด ๆ  เกิดขึ้นจะมีปัจจัยหลายปัจจัยที่สัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น  การอธิบายโดยใช้ปัจจัยเดียวจึงไม่เป็นที่ยอมรับ

นอกจากนี้ในทางสังคมศาสตร์ยังเป็นการยากที่จะระบุชัดถึง  “สาเหตุ” ของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ดังเช่นในกรณีของการเสพยาเสพติดกับการประกอบอาชญากรรม ซึ่งไม่สามารถจะระบุได้ว่าการเสพยาเสพติดเป็นสาเหตุของการประกอบอาชญากรรม  หรือการประกอบอาชญากรรมเป็นสาเหตุของการเสพยาเสพติด  แต่สิ่งที่พอจะระบุได้ก็คือว่าการเสพยาเสพติดมีสหสัมพันธ์กับการประกอบอาชญากรรมหรือไม่  ในระดับใดเท่านั้น

     2.  ปัญหาเกี่ยวกับการสุ่มตัวอย่าง ซึ่ง  Pottieger  (1981)  เรียกว่าความลำเอียงในการเลือกตัวอย่าง เนื่องจากการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเสพยาเสพติดกับการประกอบอาชญากรรมจำเป็นจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างมาใช้ในการศึกษาปัญหาจึงเกิดขึ้นก็คือว่าตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานั้น  จะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชากรที่อ้างอิงถึงได้หรือไม่  โดยปกติปัญหาดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นกับการศึกษาพฤติกรรมเบี่ยงเบนโดยทั่วไป เพราะผู้วิจัยมักจะไม่ทราบลักษณะทางประชากรที่แท้จริงของผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนประเภทต่างๆ ว่ามีขอบเขตเท่าไร  ในกรณีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เช่นกันผู้เสพยาเสพติดมีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือใครบ้างที่เป็นอาชญากร หรือผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัด  ทำให้นักวิจัยจำต้องหันไปศึกษาประชากรในส่วนที่พอจะทราบขอบเขตได้  เช่น  ผู้ต้องหา  ผู้ต้องขังในเรือนจำ  หรือผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลเป็นต้น  และเมื่อมีการสุ่มตัวอย่างมาศึกษาแล้วปัญหาจึงมักจะเกิดขึ้น  เมื่อมีการพยายามอ้างอิงผลการวิจัยไปยังประชากรที่แท้จริง  เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะยังมีคนจำนวนมากที่กระทำผิดแล้วไม่ถูกจับ  หรือถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ  ผลการศึกษาจากผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังไม่อาจนำไปอ้างอิงถึงประชากรของผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้  อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้  Inciardi  (1981)  ชี้ให้เห็นว่า  ผลการวิจัยที่ใช้ตัวอย่างในการศึกษาจากประชากรที่มีขอบเขตอย่างเป็นทางการดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งไร้คุณค่าในทางการวิจัยแต่ประการใด  ตราบใดที่การวิจัยเรื่องนั้นๆ ไม่พยายามที่จะนำผลการวิจัยไปอ้างอิงถึงกลุ่มประชากรที่แท้จริง

การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรแล้วมีการอ้างอิงผลการศึกษาถึงกลุ่มประชากรนั้นมีความสำคัญ เพราะอาจทำให้การตีความผลการวิจัยผิดพลาดได้  เช่น  กรณีการศึกษาวิจัยโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้ต้องหา  หรือผู้ต้องขังนั้น  โอกาสที่จะพบ   ผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จะมีสูงกว่าในกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย  แต่ไม่ถูกจับกุมหรือส่งเข้าเรือนจำ  (ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกจับกุมหลายเท่า)  แต่เมื่อผลการวิจัยปรากฏออกมากลับมีการอ้างอิงว่าคนที่ทำผิดส่วนใหญ่ติดยาเสพติดเป็นต้น

นอกจากนี้  ในกรณีที่มีการเลือกลุ่มตัวอย่างจากสถานพยาบาลเอกชน  โอกาสที่จะพบว่าผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาเคยมีประวัติการถูกจับกุมในคดีอาญามาก่อนจะมีน้อยกว่า  การเลือกตัวอย่างจากผู้ติดยาเสพติดในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ  ดังนั้นจึงทำให้ผลการวิจัยที่ปรากฏออกมามีความหลากหลาย

     3.  ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้  คือปัญหาเกี่ยวกับการให้คำนิยามของตัวแปรต่าง ๆ  ที่ศึกษาเพราะการให้คำนิยามที่กำกวมจะมีผลสะท้อนไปถึงการตีความผลการวิจัยที่ผิดพลาดได้

การให้คำนิยามของตัวแปรที่มักจะเป็นปัญหาคือ  ตัวแปรเกี่ยวกับยาเสพติดว่าจะให้มีขอบเขตแค่ไหน  เช่นจะใช้คำว่า  “การเสพยาเสพติด”  หรือ  “การติดยาเสพติด”  ตัวแปรสองตัวนี้มีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงพบได้ว่าในขณะที่การวิจัยบางเรื่องเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชญากรรมก่อนหรือหลัง “การติดยาเสพติด”  ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีระยะเวลาห่างกันอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างการเริ่มเสพยาเสพติดกับการติดยาเสพติด  ซึ่งอาจจะทำให้ผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวออกมาแตกต่างกัน เพราะมีการวัดต่างระดับกัน  นอกจากนี้ปัญหาในการให้คำนิยามที่ว่าออย่างไรจึงจะถือว่าเป็น  “การเริ่มเสพยาเสพติด”  หรือพฤติกรรม   อย่างไรจึงจะถือเป็น  “การติดยาเสพติด”   ก็มักจะมีการให้คำจำกัดความที่ไม่ลงรอยกัน  โดยเฉพาะในเรื่องความถี่หรือปริมาณในการเสพ    ยิ่งไปกว่านั้น  คำจำกัดความเกี่ยวกับคำว่า  “ยาเสพติด”  ก็เป็นปัญหาเช่นกัน  เพราะหากจะถือคำจำกัดความของยาเสพติดตามทางการแพทย์แล้วจะครอบคลุมยาประเภทต่างๆ  มากมาย  อย่างไรก็ตามการวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดกับอาชญากรรม โดยทั่วไปจะศึกษาเฉพาะยาเสพติดให้โทษที่ผิดกฎหมาย และมักจะไม่รวมถึงสุราด้วย แต่ถึงกระนั้นการศึกษาวิจัยในแต่ละเรื่องก็ยังมีความแตกต่างกันในการเลือกศึกษายาเสพติดชนิดที่ต่างกัน  เช่น  การวิจัยบางเรื่องศึกษาเฉพาะเฮโรอีน ในขณะที่การวิจัยบางเรื่องศึกษายาเสพติดประเภทอื่นๆ  ด้วย

ในส่วนที่เกี่ยวกับคำจำกัดความของคำว่า  “อาชญากรรม”  ก็เป็นปัญหาไม่น้อยเช่นกัน  ปัญหาประการแรกเกิดจากการที่การวิจัยบางเรื่องถือว่าการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอื่น ๆ  เช่นการครอบครองและการค้ายาเสพติดเป็นอาชญากรรมด้วย  ในขณะที่การวิจัยส่วนใหญ่จะพิจารณาเฉพาะอาชญากรรมคดีอื่น ๆ  ที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติด  แต่ถึงกระนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าอย่างไร  จะถือว่าเป็นการประกอบอาชญากรรม  เช่น  จะต้องเป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรงหรือในคดีใดบ้าง  และจะวัดจากจุดไหน  เช่นการถูกจับกุม  หรือเริ่มกระทำผิดจริงๆ เป็นต้น

สรุป

ความสัมพันธ์ของยาเสพติดกับอาชญากรรม  เป็นเรื่องที่คนโดยทั่วไปมีความเชื่อกันว่ายาเสพติดเป็นที่มาของอาชญากรรม  แต่ผลของการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา  พบว่าความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสองตัวนี้เป็นความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อน  ซึ่งอาจเป็นได้ว่ายาเสพติดมาก่อนอาชญากรรม  หรืออาชญากรรมมาก่อนยาเสพติด  หรืออาชญากรรมมาก่อนยาเสพติดแต่เมื่อมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้น  หรืออาจเป็นผลมาจาก     ตัวแปรแทรก  การที่ผลของการวิจัยออกมาหลากหลายเช่นนี้  เนื่องมาจากปัญหาในระเบียบวิธีการวิจัยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสุ่มตัวอย่าง  ปัญหาเกี่ยวกับคำนิยาม  และปัญหาเกี่ยวกับการโยงสาเหตุ  ดังนั้นการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยาเสพติดกับอาชญากรรมจึงยังไม่อาจยุติลงได้  แต่คงจะต้องมีต่อไปเพื่อขยายความรู้ในเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

—————————————————–

 บรรณานุกรม

Barton, William  I.  Heroin Use  and  Criminality  :  Survey  of  inmates  of   state  correctional  facilities,  January 1974. In the National  Institute On  Drug  Abuse  and  Research  Triangle Institute.  Appendix  to  Drug  Use  and  Crime  :  Report  of  the  Panel  on  Drug Use and criminal  Behavior. Research Triangle Park, North Carolina :  September  1976,  419 – 440.

Bass,  Urbane  F.,  Barry  S.  Brown,  and  Robert  L.  Dufont.  A  Study  of  Narcotics  Addicted Offenders  at  the  D.  C.  Jail  Washington,  D.  C.  :  Narcotics  Treatment Administration,  1971.

Bowker, Lee Correction : The Science and the art. New  York : Mac  millan   Publishing Co., Inc.

Chambers, Carl D., Arthur  D.  moffett,  and  Judith  P.  Jones.  Demographic factors associated with Negro opirate addiction.  THE International Journal of the Addictions, 1968, 3, 329 – 343.

Eckerman, William C., J.D.  Bates, J.  Valley Rachal, and W.  K.  Poole  Drug  Usage  and Arrest  Charges  Among  Arrestees  in  Six  Metropolitan  Areas  of  the  United  States.

Burean  of  Narcoties  and  Dangerous  Drugs,  U.S.  Department of Justice, Washington, D

Greenberg, Stephanie  W.  and  Freda  Adler,  Crime  and  addiction  :  An  empirical  analysis  of the  literature,  1920  -  1973  Contemporary  Drug  Problems,  1974,  3.  221  -  270

Inciardi, James A.,Youth,  drugs  and  street  crime. In Drugs and  youth  Culture (eds.  Searpitti  &  Dates man)  London,  1980.

Johnston,  Lloyd  D.,  Patrick  M.  O , Malley,  and  Leslie  K.  Eve land.  Drugs  and  delinquency  :A  search  for  causal  connections.  In  Kandel,  Denise  B.  (ed)  Longitudinal  Research  on  Drug  use  :  Emperecal  Findings  and  Methodological  Issues.   New  York  :  Wiley,  1979,  137  -  156.

Johansson,  T  &  Bjerver,  K  Drugs  social  factors   and   criminality.   Stockholm  1982   in  Drug criminality  and  Drug  in  Sweden  1969  -  1981.  Jan  Anderson  and  Artur  Solarz  (eds)  The  National  Swedish  Council  for  Crime  Prevention,  Report  No  10., 1982.

Kith,  Lawrence.  Drug  addiction  in  its  relation  to  crime.  Mental  Hygiene.  1923,  9,  74  -  89.

McGlothlin,  William  H.,  M.  Douglas  Auglin  and  Bruce  D.  Wilson.  Narcotic  addiction  and  crime.  Criminology,  1978,  16,  293  -  315.

Mott,  J.  Drug  misuse  and  crime,  in  Collected  Studies  in  Criminological  Research  13  Council  of  Europe  Strasbourg,  1975.

Nurco,  David  N.  Crime  and  addiction  :  Methodological  approaches  taken  to  correct  for  opportunity  to  commit  crime.  In  The  National  Institute  on  Drug  Abuse  and  Research  Triangle  Institute.  Appendix  to  Drug  Use  and  Crime  :  Report  to the Panel  on  Drug  Use  and  Criminal  Behavior  Research  Triangle  Park,  North  Carolina  :  September  1975,  489  -  508.

Nurco,  David  N.,  and  Robert  L.  DuPont.  A  preliminary  report  on  crime  and  addiction  within  a  community  -  wide  population  of  narcotic  addicts.  Drug  and  Alcohol  Dependence,  1977,  2,  109  -  121.

O,  Donnell,  John  A.  Criminal  records  of  subjects.  In  O,  Donnell,  John  A.  (ed,)  Narcotic  Addicts  in  Kentucky.  Washington,  D.C.  :  U.S.  Government  Printing  office,  1969 a,  107  -  125.

Petersen,  David  M.  and  Samuel  E.  Stern.  Characteristics  of  narcotic  addicts  admitted  to  U.S.  Bureau  of  Prisons  Georgia  Journal  of  Corrections,  1974,  3,  4  -  12.

Plair,  Wendell  and  Lorraine  Jackson.  Narcotic  Use  and  Crime  :  A  Report  on  Interviews  with  50  Addicts  Under  Treatment  Research  Report  No.  33  Washington,  D.C.  Department  of  Corrections,  November  1970.

Pottieger,  Anne  E.,  Sample  bias  in  drugs/crime  research  :  empirical  study,  in  The  Drugs  -  Crime  Connection  James  A.  Inciardi  (ed.)  Beverly  Hills,  Sage  Publications  1981.

Robinson,  Bernard  F.  Criminality  among  narcotic  addicts  in  the  Illinois  State  Reformatory  for  Women.  Illinois  Medical  Journal,  1961,  119,  320  -  326.

Roebuck,  Julian  B.  The  Negro  drug  addict  as  an  offender  type.  Journal  of  Criminal  Low,  Criminology,  and  Police  Science  1962,   53,  36  -  43.

 

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม