ศาลยาเสพติด (Drug Court)

ศาลยาเสพติด (Drug Court)

 

สำหรับบทความนี้ขอแบ่งปันประสบการณ์ขณะที่ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ University of Missouri- St. Louis และได้มีโอกาสฝึกงาน ณ หน่วยงานภายในกรมราชทัณฑ์ของรัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ของรัฐมิสซูรี่ ได้มีการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานในการแก้ไขฟื้นฟู                 ผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคม เช่นการทำงานร่วมกับชุมชน และศาล โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับศาลยาเสพติด  ศาลยาเสพติดเป็นศาลอีกหนึ่งรูปแบบที่มีความน่าสนใจ โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะซึ่งเป็นคดีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นแทนการพิจารณาคดีในกระบวนการศาลยุติธรรม เพื่อเน้นให้โอกาสผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดที่เป็นคดีไม่ร้ายแรงได้มีโอกาสกลับตัวและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมต่อไป รวมถึงลดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำอีกทาง ตลอด ๕ เดือนในการฝึกงานได้มีโอกาสเรียนรู้ในภารกิจของหลายส่วนงาน อาทิ งานด้านคุมประพฤติและงานเกี่ยวกับการพิจารณาคดียาเสพติดของศาลยาเสพติด ณ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ โดยเฉพาะการฝึกงานที่ศาลยาเสพติดนั้นมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นหน่วยงานใหม่ที่ไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งการฝึกงานครั้งนี้ยังได้เรียนรู้ในหลายด้านโดยเฉพาะการเรียนรู้ถึงการบูรณาการในการร่วมมือกันทำงานของหลายหน่วยงานในเมืองเซนหลุยส์กับศาลยาเสพติด

ศาลยาเสพติด (Drug Court) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นศาลที่เกิดขึ้นจากแนวคิดในการช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับคดียาเสพติดซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นและนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่แพร่หลายอยู่ในสหรัฐอเมริกา  ศาลยาเสพติดจัดตั้งขึ้นครั้งแรก ณ เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริด้า ในปี ๒๕๓๒  ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดประเภทโคเคน และเฮโรอีน ปัจจุบันนี้ มีศาลยาเสพยาเสพติดในประเทศ สหรัฐอเมริกา มีจำนวนมากกว่า ๒,๔๐๐ แห่ง โดยศาลยาเสพติดยังถือได้ว่าเป็นโทษทางเลือกแทนการลงโทษโดยการจำคุก เน้นกลุ่มเป้าหมายคือผู้กระทำผิดคดียาเสพติดที่ไม่ใช่ประเภทคดีความรุนแรง นอกจากนี้ผู้กระทำผิดที่เข้ารับการพิจารณาคดีของศาลยาเสพติดนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ของคดีดังนี้ คือต้องไม่เป็นคดีความผิดร้ายแรง  ไม่มีประวัติด้านคดีอื่นๆมาก่อน และยินยอมที่จะเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆที่ทางศาลยาเสพติดได้กำหนดให้  โดยผู้เข้าร่วมต้องเป็นผู้จ่ายค่าเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆเอง และต้องไม่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดรายสำคัญ  โปรแกรมที่จัดให้แก่ผู้กระทำผิดมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นพัฒนาพฤตินิสัยให้แก่ผู้กระทำผิดแทนการส่งตัวเข้าไปในเรือนจำ โปรแกรมที่จัดขึ้นเน้นความหลากหลายและมีความเหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วมเป็นสำคัญ ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุมของเจ้าพนักงานคุมประพฤติในฐานะผู้จัดการโปรแกรมที่ทำงานภายใต้อำนาจกรมราชทัณฑ์ ซึ่งบทบาทของ                ศาลยาเสพติดในเมืองเซนหลุยส์ นั้นก็เช่นเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมและนำไปสู่การเลิกข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างถาวร

โดยประเภทของศาลยาเสพติดในเมืองเซนหลุยส์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น สี่ประเภทหลัก คือ             ศาลยาเสพติดสำหรับผู้ใหญ่ ศาลยาเสพติดสำหรับเยาวชน ศาลยาเสพติดสำหรับครอบครัว และศาลยาเสพติดสำหรับทหารผ่านศึก โดยการดำเนินการพิจารณาคดีนั้นเป็นการบูรณาการจากหลายหน่วยงานในการร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิด โดยองค์ประกอบคณะพิจารณาคดีประกอบด้วย ผู้พิพากษาประจำศาลยาเสพติด หรือที่เรียกว่า  Drug Court Commissioner และผู้บริหารระดับสูงของศาลยาเสพติด รวมถึงเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายประจำรัฐ ทนายความประจำรัฐ และหน่วยงานภายนอก             ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโปรแกรมเพื่อผู้กระทำผิด ซึ่งคณะดังกล่าวมีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและดำเนินการจัดโปรแกรมที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิด โดยกระบวนการพิจารณาจะมีการพิจารณาถึงประวัติของผู้กระทำผิดเป็นรายๆประกอบกับลักษณะคดีที่ได้กระทำผิดว่า ควรจะได้รับการดูแลรักษาและเข้าร่วมโปรแกรมชนิดใดก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี ซึ่งหากผู้กระทำผิดได้รับการตัดสินโทษให้เข้าร่วมโปรแกรมฟื้นฟูแก้ไข                 แล้ว ผู้กระทำผิดจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวให้ครบตามที่กำหนดไว้ ซึ่งหากมีการขาดการเข้าร่วมโปรแกรมตามที่ศาลได้กำหนดไว้และขาดการรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติแล้ว ผู้กระทำผิดจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำโดยทันที

รูปแบบโปรแกรมที่จัดไว้ให้แก่ผู้กระทำผิด เน้นให้ความรู้ทางการศึกษา และเน้นให้ผู้เข้าร่วมโปรแกรมเข้าใจถึงการใช้ชีวิตที่ถูกต้องแท้จริง เพื่อสามารถกลับไปมีโอกาสทางสังคมอีกครั้ง ซึ่งทางศาลยาเสพติดจะเป็น                ผู้ประสานหน่วยงานภายนอกในการช่วยเหลือในการดำเนินการโปรแกรมต่างๆ โดยดำเนินงานร่วมกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติในการช่วยสอดส่องดูแลให้ผู้กระทำผิดเข้าร่วมโปรแกรมตามกำหนด ซึ่งโปรแกรมแบ่งออกไปเป็น                 ๒ กลุ่มหลัก ที่เรียกว่า Pre Plea case และ Post Plea case สำหรับกลุ่มผู้กระทำผิดที่เข้าร่วมในกลุ่ม Pre Plea case นั้น จะเป็นกลุ่มผู้กระทำผิดที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติ แต่สำหรับกลุ่ม Post Plea case นั้น ผู้เข้าร่วมโปรแกรมจะเป็นกลุ่มผู้กระทำผิดที่ได้รับการพักการลงโทษ ซึ่งผู้กระทำผิดที่จะเข้าร่วมโปรแกรมในทั้งสองกลุ่มนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติตามข้อมูลข้างต้น

ในการดำเนินการเกี่ยวกับโปรแกรมของศาลยาเสพติดนั้น ได้กำหนดโปรแกรมเป็น ๓ ระดับด้วยกัน ซึ่งเรียกว่า Path (พาธ) โดยจะแบ่ง เป็น Path1 Path2 และ Path3 ซึ่งผู้เข้าร่วมโปรแกรมจำเป็นต้อง                    ผ่านทั้ง  ๓ ระดับ ซึ่งจะถือว่าจบการเข้าร่วมโปรแกรม ซึ่งในแต่ละระดับจะแบ่งออกเป็นสี เช่น Path1 คือสีฟ้า Path2 คือสีเหลือง Path3 คือสีเขียว แต่สำหรับผู้กระทำผิดผู้หญิงจะใช้สีม่วงแทนทั้ง ๓ ระดับ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จัดโปรแกรมแก่ผู้กระทำผิดนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายนอกผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดโปรแกรมแก่ผู้ติดยาเสพติดมาทำงานร่วมกับศาลยาเสพติดในการจัดโปรแกรมให้แก่ผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังจัดให้มี              การพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้เข้าร่วมโปรแกรมเป็นประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นแนวทางในการจัดโปรแกรมได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะผู้เข้าร่วมที่เป็นกลุ่ม Post Plea case จำเป็นต้องได้รับการประเมินคุณลักษณะจากนักจิตวิทยาของศาล โดยจะมีการประชุมระหว่างคณะกรรมการก่อนการพิจารณาคดีว่า ผู้เข้าร่วมโปรแกรมนั้นๆ สามารถผ่านการประเมินและเลื่อนสู่ระดับที่สูงขึ้นได้หรือไม่

หลังจากกระบวนการประเมินคุณลักษณะของผู้เข้าร่วมโปรแกรมแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้รับแผนการดำเนินการของโปรแกรมที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงแนวทางการเข้าร่วมโปรแกรมและผลสำเร็จที่จะได้รับ                  ในอนาคต  โดยผู้เข้าร่วมจำเป็นต้องมีรายชื่อผู้สนับสนุนที่จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือระหว่างการเข้าร่วมโปรแกรมนำมายื่นต่อศาล ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้กระทำผิดและศาลที่จะช่วยกันบรรลุเป้าหมายของโปรแกรม และเมื่อเข้าร่วมครบตามกำหนดทั้ง ๓ ระดับแล้ว จะมีการจัดงานสำหรับการจบโปรแกรม หรือที่เรียกว่า Graduation day เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วม ที่สามารถเอาชนะปัญหาและแก้ไขตนเองและพร้อมกลับคืนสู่สังคม                อีกครั้ง ในวันดังกล่าวจะมีการเชิญบุคคลภายนอก เช่น ครอบครัว คนรัก ญาติ หรือผู้ใกล้ชิด ของผู้กระทำผิด มาร่วมยินดีในวันดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโปรแกรมต่างๆของศาลยาเสพติด จำนวนมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน

จากการศึกษาถึงผลของการจัดตั้งศาลยาเสพติดของนักวิชาการหลายท่าน พบว่า การมีศาลยาเสพติด                ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีประโยชน์ต่อการช่วยลดปัญหาของการกระทำผิดซ้ำและยังมีผลต่อการลดลงของอัตราการก่ออาชญากรรมในประเทศสหรัฐอมริกาด้วย เช่น ในการศึกษาของ Marlowe (2010) ชี้ว่า                         ศาลยาเสพติดนั้นช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๕ เปอร์เซนต์ ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าว                      ยังพบอีกว่า ผู้ผ่านการเข้าร่วมโปรแกรมของศาลยาเสพติดนั้นมีอัตราการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจลดลงประมาณ ๘ ถึง ๑๕ เปอร์เซนต์ เช่นเดียวกับ การศึกษาของ Demetto.,et al. (2011) ที่ชี้ว่า การมีศาลยาเสพติดนั้นช่วยลดการใช้ยาเสพติดในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดและยังช่วยลดการกระทำผิดซ้ำที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติดอีกด้วย

จากการศึกษาดังกล่าวและประสบการณ์จากการฝึกงานในศาลยาเสพติดครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงบทบาท               ที่สำคัญของศาลยาเสพติด ที่ช่วยลดการกระทำผิดซ้ำทั้งที่เกี่ยวกับคดียาเสพติดและคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้                 ยาเสพติดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื่องในการช่วยลดการก่ออาชญากรรมอีกทางหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดคือ      เป็นอีกแนวทางสำหรับโทษทางเลือกหนึ่งที่ใช้ลดปัญหาความแออัดของจำนวนผู้ต้องขังภายในเรือนจำของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประสบการณ์ในการฝึกงานในครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสและเปิดโลกทัศน์ใหม่ในการเรียนรู้ถึงการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และ                 ทำให้เห็นได้ว่าการดำเนินงานของศาลยาเสพติดนั้นเป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อนำความปลอดภัยสู่สังคม และยังเป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดได้พัฒนาตนเองและกลับไปใช้ชีวิตต่อในสังคมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยในการแก้ปัญหาอื่นๆที่มีผลเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเช่น การลดความแออัดภายในเรือนจำที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง รวมถึงการลดลงของอัตราการกระทำผิดซ้ำที่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยมีศาลยาเสพติดเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว อาจจะเป็นผลดีอีกทางที่จะช่วยในการลดจำนวนของผู้ติดยาเสพติดและแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ก่อเหตุอาชญากรรมในสังคมไทยในอนาคตได้เช่นเดียวกัน

 

เขียนโดย นางสาวเอกกมล ลวดลาย นักทัณฑวิทยาชำนาญการ

กลุ่มงานวิชาการด้านการราชทัณฑ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

เว็บไซต์  http://en.wikipedia.org/wiki/Drug_court

City of St. Louis drug court participant’s handbook. The City of St. Louis Drug Court.

DeMatteo, D., Filone, S., & LaDuke, C. (2011). Methodological,ethical,and legal   considerations in drug court research. 29, 806-820. doi: 10.1002/bsl.1011

Marlow, D. (2010). Research update on adult drug court.National Association of Drug    Court Professional,

Missouri Department of Corrections, Division of Probation and Parole. (2008). A guide to understanding probation and parole for family and friends

Missouri Department of Corrections, (2011). Missouri reentry process report to the governor

Murphy, J. (2012). The continuing expansion of drug courts: Is that all there is?. 33, 582-           588.

แหล่งรวบรวมความรู้ด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม